ถ้าวันหนึ่งโรงเรียนที่ลูกคุณเรียนมาแล้ว 3 ปี บอกกับคุณว่า ให้ย้ายลูกไปเรียนที่อื่น เพราะลูกมีปัญหาสมาธิสั้น คุณจะทำอย่างไร
‘วลีพร แซ่ตั้ง’ คุณแม่ของ ‘อนุศิษฎ์ ผดุงกิจนิรันดร์’ ลูกชายวัยประถมศึกษาปีที่ 1 ณ ขณะนั้น ยืดอกตรง ผายไหล่กว้าง แล้วประกาศกร้าว “ไม่ยอมค่ะ”
“คุณอยู่กับลูกเรามา 3 ปีกว่า เพิ่งจะมาบอกว่าลูกเราสมาธิสั้นตอนที่เรียนเกรด 1 ไปเทอมนึงแล้ว คุณจะต้องหาวีธีสิว่า ทำยังไงถึงจะสอนเด็กพวกนี้ได้ ไม่ใช่มาไล่กันแบบนี้ มันไม่ถูก ทำไมคุณไม่ช่วยพัฒนาเด็กพวกนี้ขึ้นมาทั้งๆ ที่มันพัฒนาได้ ค่าเทอมอะไรเราก็จ่ายไปแล้ว เราไม่ยอมให้ลูกเราออกจากโรงเรียน แต่เรายอมออกจากที่ทำงานนะ”
“พาลูกไปหาหมอ ก็ได้ผลว่า ลูกมีไอคิว 130 แต่มีภาวะไฮเปอร์แอคทีฟกับสมาธิสั้นร่วมด้วย จึงทอนตรงนี้ลงไป ตอนนั้นเครียดมาก แล้วเขาก็เหมือนต่อต้าน ไม่ชอบให้ใครตะคอกเสียงดัง เราเลยขอใบรับรองแพทย์แล้วมาไปคุยกับทิชเชอร์ทุกคนว่า ตอนสอนในห้องน่ะ อยากให้ลดความดังของเสียงลงมาหน่อย เรารู้ว่าเสียงดังทำให้เด็กอยู่ในคอนโทรลนะ แต่ขอล่ะ เพราะเสียงที่ดังจะไปกระตุ้นความอะเกรสซีฟ (aggressive = ก้าวร้าว รุนแรง) ของเขา และตัวเราเองก็ไปนั่งอยู่ในโรงเรียน บอกกับลูกว่า ไม่ต้องกลัวอะไร แม่อยู่ตรงนี้ มีอะไรลงมาหาแม่เลย เป็นการช่วยกันทั้งสองฝ่าย แล้วเขาก็ดีขึ้นเรื่อยๆ เราไปนั่งที่โรงเรียนถึงเกรด 3 แล้วจากนั้นก็ปล่อยให้เขาเรียนต่อเองจนจบที่โรงเรียนนั้น”
และเมื่อต้องขึ้นชั้นมัธยมศึกษา วลีพรเลี้ยงลูกโดยเน้นการสนับสนุนทุกอย่างที่ลูกต้องการ แต่ก็ต้องผ่านการพูดคุยอย่างมีเหตุผลด้วยจนกระทั่งตอนนี้ลูกอยู่ในวัยมัธยมปลาย และกำลังเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัยอย่างขะมักเขม้น
“เราต้องถามเขา ต้องพูดคุย ด้วยวัยนี้บางทีเขาคิดอะไรอยู่แล้วไม่ได้บอกเรา เราก็ต้องคอยถามคอยเช็กให้แน่ใจว่า เขาจะชอบจริงไหม มาทางที่เขาเลือกนี่จริงไหม ความชอบยังอยู่ที่เดิมหรือเปล่า แล้วจากนั้นเราก็สนับสนุนเต็มที่”
“ตอนขึ้นม.1 เราก็คุยกันเยอะมากกว่าจะมาลงตัวที่โรงเรียนนี้ ก็ผ่านการพูดคุยหลายครั้ง เลือกจีนไหม หรืออีพี หรือห้องธรรมดาแล้วไปเสริมอย่างอื่นเอา พอจะขึ้นม.ปลายเขาจะต้องเลือกว่าจะเรียนคณะอะไร คือต้องตัดสินใจให้ได้ตั้งแต่ม. 4 เพราะมันจะต้องเตรียมตัวเยอะ ก็พูดคุยกัน ก็มีการเปลี่ยนใจหลายครั้ง แต่ตอนนี้แน่ชัดแล้วที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ เราก็เริ่มเสริมส่วนที่เขาขาด เพราะทีแรกเขาเลือกเรียนภาษาจีน มันจะขาดพวกวิชาวิทย์ไป มีแต่คณิตพื้นฐาน แต่ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ อะไรพวกนี้ไม่ได้เรียน ก็สนับสนุนให้เขาไปเรียนเสริม โชคดีที่มีหลักสูตรเรียนภาษาแบบเร่งรัด (intensive course) สำหรับเด็กที่เรียนภาษาต่างชาติให้มาเรียนตรงนี้เพื่อเก็บหน่วยกิตเอาไปลงใบปพ. (เอกสารประเมินผลตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน) เพื่อไปยื่นสมัครสอบได้”
ถึงตรงนี้สองแม่ลูกก็จับมือกันเพื่อเตรียมการต่างๆ ทั้งเรื่องพื้นฐานความรู้ การเรียนเก็บหน่วยกิต และการเก็บพอร์ตผลงาน สำหรับเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว
“เราให้เขาเรียนพิเศษกับติวเตอร์ส่วนตัวที่เข้าใจพื้นฐานของคนที่เคยเป็นสมาธิสั้นมาก่อน คือเขาจะรู้ว่าควรเน้นเมื่อไร ควรหยุดตรงไหน รู้จักยืดหยุ่น ส่วนเรื่องพอร์ตก็พยายามให้เขาไป Open house ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ หรือเข้าค่ายที่มหาวิทยาลัยจัด เขาอยากไปที่ไหนเราก็สนับสนุน ตรงนี้นอกจากเอามาใส่ในพอร์ต โฟลิโอ ได้แล้ว ก็ยังทำให้เขาได้เห็นของจริง ไม่ว่าจะเป็นการเรียนการสอนของที่นั้นๆ หรือเครื่องมือต่างๆ ที่ต้องใช้จริง เพราะเขาจะมีเวิร์กช้อปด้วย นอกนั้นในพอร์ตที่อยากให้เขามีก็คือ พวกวิชาต่างๆ ที่เกี่ยวกับวิศวะ และวิชาอื่นๆ ที่จำเป็นอย่าง ภาษาอังกฤษ ก็ให้เขาไปเข้าแคมป์เรียนพิเศษ แล้วเรื่องกิจกรรมอื่นๆ ที่ต้องเอามาใส่พอร์ตเขาก็ทำมาตั้งแต่เด็กแล้ว อย่างตอนนี้เขาก็เป็นประธานเชียร์ เป็นหลีดเดอร์ ทำกิจกรรมหลายอย่าง”
“ที่ไม่ขาดเลยก็พวกแคมป์การเสริมสร้างความเป็นผู้นำ จิตอาสา พยายามให้เด็กมีความเป็นผู้นำ มีความเป็นจิตอาสา ไม่ได้มองว่าแค่เอาตัวเธอรอดอย่างเดียวนะ แต่ต้องให้กลับเพื่อสังคมด้วย แต่อันนี้โชคดี คือเราปลูกฝันลูกเรามาแต่เด็กว่าต้องให้ เวลาเราไปบริจาคของที่ไหนก็หนีบเขาไปด้วย ไปดูคนที่เขาด้อยโอกาสกว่าเรา ไปให้เขาได้รู้จักชีวิต”
การดูแลอย่างใกล้ชิดนี้เองที่ทำให้อาการของลูกชายดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“มันจะมีบ้างที่เขายังคงกดดันตัวเองมากเกินไป เราก็เลยจะไม่ได้กดดันเขาเพิ่มอีก จะพูดกับลูกว่า ถ้าลูกเต็มที่แล้วผลออกมาเป็นยังไงจะไม่สนใจ แต่ถ้าวันใดที่เห็นว่าปล่อยปะละเลย ไม่เต็มที่ แม่ก็จะโกรธ แต่ถ้าทำอะไรก็เต็มที่ ใส่ใจกับมันทำให้มันเต็มที่แล้ว ผลออกมาเป็นยังไงก็ตามนั้น ส่วนเราก็คอยซัปพอร์ตมากที่สุดเท่าที่จะทำได้”
“เลี้ยงลูกมาได้ระดับนี้ก็ถือว่าเราดีใจแล้วแหละ อย่างน้อยลูกรอดมาได้เกือบครึ่งทางละ เหลือแค่ว่าเรียนให้จบมหาลัยมีงานทำแค่นั้นเอง เราหวังแค่ว่าลูกเราจบมีงานทำเลี้ยงตัวเองได้แค่นั้นจบ อีกครึ่งทางรอลุ้นกันดูว่าเขาจะไปในทางไหนเราก็แค่ซัปพอร์ต แต่ว่าไม่สามารถไปคอนโทลเขาได้ทุกอย่าง ก็จะสอนเขาว่า ทุกอย่างคือกรรม การที่มันออกมาแบบนี้ คือผลของการกระทำ ลูกทำยังไงก็ได้อย่างนั้น ก็ให้ทำให้ดีเพราะแม่ไม่สามารถเลี้ยงเธอได้ไปตลอดชีวิต”
วลีพรยังฝากไว้ด้วยว่า ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไปทำให้การเดินทางของแม่และลูกสู่เส้นทางมหาวิทยาลัยและการเติบโตนั้นยากและท้าทายมากขึ้น โดยเฉพาะคู่แม่ลูกอย่างเธอ แต่ความรัก ความเข้าใจและอดทนก็สามารถเอาชนะอุปสรรคที่รออยู่ข้างหน้าและสร้างอนาคตที่สดใสขึ้นได้ร่วมกันได้