เมื่อความรุนแรง ต้อง ไม่ใช่วิธีการตัดสิน คุยกับลูกอย่างไร เมื่อลูกอยากใช้ความรุนแรง

มีหลายเรื่องที่ผู้ปกครองจำเป็นต้องพูดคุยกับลูกก่อนที่พวกเขาจะเข้าสู่วัยรุ่น หรือวัยที่ต้องเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างทั้งสังคม การศึกษา ฮอร์โมนในร่างกาย ความเปลี่ยนแปลงในร่างกายของทั้งผู้หญิงและผู้ชาย การเคารพในสิทธิ์ของแต่ละบุคคล การรักและหวงแหนในร่างกายของตัวเอง นอกเหนือจากนี้อีกสิ่งที่น่าจะต้องหยิบยกมาพูดคุยกันอย่างเป็นทางการระหว่างพ่อแม่ผู้ปกครองและลูกๆ ก็คือ “ความรุนแรง”

เนื่องจากความรุนแรงนั้นปรากฏขึ้นรอบตัวเราไม่ว่าจะเป็นในสื่อต่างๆ โดยเฉพาะเมื่อความรุนแรงถูกแสดงต่อเวทีโลกอย่างออสการ์เมื่อไม่นานมานี้ หรือจะเป็นสภาพแวดล้อมรอบตัว จนแทบจะเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งนั่นแทบจะไม่มีช่องว่างให้หลีกเลี่ยงไม่ให้เด็กได้พบเห็นความรุนแรงได้เลย ทางที่ดีที่สุดก็คือ สอนให้พวกเขารับมือกับปัญหาความรุนแรง และปลูกฝังค่านิยมที่ดีเพื่อไม่ให้เขาต้องหันไปพึ่งความรุนแรงในการใช้ชีวิต

และเหล่านี้คือหนทางที่อาจจะช่วยให้คุณพูดคุยกับลูกๆ หรือเด็กในปกครองได้ดีขึ้น

พูดคุยกันถึงความรุนแรงที่ได้พบเจอไม่ว่าจะในชีวิตจริงหรือในสื่อ

การพูดคุยในครั้งนี้ไม่ได้ต้องการค้นหาว่าคำตอบไหน ถูกหรือผิด แต่เป็นการค้นหาว่าเด็กๆ รู้สึกอย่างไรต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น ดังนั้นผู้ปกครองควรเปิดรับความเห็นที่แตกต่าง

การได้พูดถึงความรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องร้ายแรงที่เคยเจอกับตัว หรือเห็นหรือรับทราบมาจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวจะเป็นการได้ผ่อนคลายคววามกลัวและความตึงเครียดที่เกิดจากเหตุการณ์นั้นๆ และหากได้พูดคุยกันแล้วแต่เด็กๆ ยังคงหลงเหลือความหดหู่ โกรธเคือง ก็จำเป็นอย่างมากที่ผู้ปกครองจะต้องทำให้พวกเขามั่นใจว่า เขาไม่ได้เผชิญหน้าอยู่กับมันเพียงลำพัง ทั้งนี้ต้องจัดพื้นที่ให้เหมาะสมต่อการพูดคุยระบายความรู้สึกด้วย

จากนั้นลองพูดคุยกันถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น โดยคำนึงถึงอายุของเด็กๆ ที่กำลังฟัง และบริบทที่เกิดขึ้นด้วย

จำกัดการสัมผัสความรุนแรง

งานวิจัยยืนยันแล้วว่า การที่เด็กๆ ได้รับรู้ความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ทีวี ภาพยนตร์ หรือวิดีโอเกมจะรู้สึกปลอดภัยน้อยกว่าเด็กที่ไม่ดู ในการณ์นี้การแก้ปัญหาอาจจะไม่ใช่ ‘ห้าม’ ดูเสมอไป แต่อาจจะหมายถึง การร่วมดู ร่วมสัมผัสไปพร้อมกับลูกแล้วช่วยกันวิเคราะห์วิจารณ์ หรือเตือนพวกเขาเช่น พ่อแม่รู้ว่าสิ่งที่เห็นนั้นไม่ใช่เรื่องจริง แต่เป็นส่วนหนึ่งในภาพยนตร์ หรือเกม แต่ถ้าหากเหตุการณ์เหล่านั้นมันเกิดขึ้นจริง จะมีผู้สูญเสีย เสียใจ และผลลัพธ์ที่ไม่น่าประทับใจตามมาก็เป็นได้

และอาจจะป้องกันกันเห็นความรุนแรงได้ด้วยการ ดูแลการเข้าชมรายการทีวี เกม เว็บไซต์ หรือสื่อต่างๆ ให้เหมาะสม หากเป็นไปได้ขอให้มีส่วนร่วมกับพวกเขาด้วย ติดตั้งเครื่องมือตรวจสอบเพื่อป้องกันเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมบนอินเทอร์เน็ตและทีวี โดยพยายามสังเกตเรตติ้งสำหรับรายการ ภาพยนตร์และสื่อต่างๆ แล้วดำเนินการตามนั้น

สร้างความมั่นใจให้กับลูกๆ ของคุณ

เด็กๆ ที่พบเห็นความรุนแรง โดยเฉพาะเมื่อความรุนแรงนั้นเกิดขึ้นกับตัวเองหรือคนใกล้ตัว จะรู้สึกว่าตัวเองไม่ปลอดภัย สิ่งที่ผู้ปกครองจะทำเพื่อพวกเขาได้ก็คือ สร้างความมั่นใจ สร้างความรับรู้ว่าพวกเขาจะปลอดภัย และถูกห้อมล้อมไปด้วยคนที่จะมอบความปลอดภัยให้กับเขา เช่น บอกกับพวกเขาว่า หากเจอเรื่องรุนแรง พวกเขาสามารถไปหาผู้ใหญ่ที่ไว้ใจได้ อาทิ พ่อแม่ ครู ตำรวจ ฯลฯ

ให้ลูกๆ เข้าใจให้ได้ว่า การกลั่นแกล้ง กับการล้อเล่น มีเส้นบางๆ กั้นนิดเดียว

พูดคุยกับเด็กๆ ว่าการล้อกันเล่นนั้น มีขีดจำกัดของมัน และในบางครั้ง ‘ล้อเล่น’ อาจจะเลยเถิดไปไกลกว่าที่ตั้งใจไว้มาก หากบังเอิญมีสักวันหนึ่งที่ลูกของคุณเป็นคน ‘ล้อเล่น’ แต่มันขยายใหญ่โตและคนอื่นมองเป็นการกลั่นแกล้งไม่ว่าจะด้วยทางกาย หรือทางวาจา ลองหาเวลาที่ทุกคนต่างใจเย็นลงแล้วถามเขาว่า เพราะอะไรจึงทำแบบนั้น แล้วหาทางแก้ไขและปรับปรุงร่วมกันอย่างสันติวิธี

นำเสนอวิธีการต่างๆ เพื่อให้ลูกรับมือกับสิ่งยั่วยุให้เด็กๆ ก่อความรุนแรงได้ เช่น

เมื่อเจอกับคนยั่วยุ ให้นิ่งเงียบเสีย หรือสูดหายใจเข้าลึกๆ แล้วหาทางพูดเกี่ยวกับเรื่องเลวร้ายนั้นกับคนที่สนใจฟัง และให้เด็กๆ เลือกคบเพื่อนที่ดี โดยให้เหตุผลได้ว่า การคบเพื่อนที่ชอบใช้ความรุนแรงนั้น มักจะนำมาซึ่งการบาดเจ็บหรืออาจจะเสียชีวิตได้ แต่การคบเพื่อนที่ดีจะนำพาชีวิตไปในทิศทางตรงกันข้าม

ทั้งนี้ในท้ายที่สุดแล้วเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองที่จะต้องยืนยันอย่างหนักแน่นต่อเด็กๆ ว่า พวกคุณไม่ยอมรับความรุนแรง และจะไม่ทำความรุนแรงใดๆ จะไม่นำความรุนแรงมาสู่ครอบครัว เพื่อให้พวกเด็กๆ ที่กำลังจะเติบโตเป็นวัยรุ่น เป็นผู้ใหญ่ เห็นภาพได้ชัดเจน และยอมรับในตัวพ่อแม่ผู้ปกครองด้วย โดยอย่างแรกต้องเริ่มต้นที่ครอบครัวก่อน เพราะเมื่อคุณกำลังสอนว่าลูกไม่ควรใช้ความรุนแรง คุณก็ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับพวกเขาเช่นกัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้และ นโยบายในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า