เรียนแบบไหน?…คือ “ใช่” สำหรับเด็กไทย

รูปแบบสังคมที่เปลี่ยนไป สภาวะแวดล้อมที่ผันผวน รวมถึงวิถีการดำรงชีวิตที่แตกต่าง ถึงเวลาแล้วหรือยัง? ที่เครื่องมือทางการศึกษาของไทย ซึ่งได้แก่ “ระบบการศึกษา” จำเป็นจะต้องได้รับการสังคยานาเสียใหม่ เพื่อปรับตัวและปรับใช้ให้เข้ากับความเป็นไปในสังคมยุคปัจจุบัน

หลายความคิดเห็นถูกตีโจทย์ เพื่อมุ่งพัฒนาเสริมสร้างปัญญา ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน แต่ดูเหมือนหลายเสียงจะถูกปัดตก เพียงเพราะไม่บรรจบกับความคิดของคนรุ่นเก่า

บทความนี้จึงอยากชวนทุกท่าน…มองมุมกว้าง…โลกข้างหน้า ย่อมไม่ใช่ของเรา หากต้องวาดเส้นทางชี้ชะตาของพวกเขา เด็กๆ เหล่านี้อยากบอกอะไรกับเรา เพื่อให้พวกเขาได้ดึงศักยภาพที่แท้จริงจากระบบการศึกษาของไทย!?

ลองมาฟังเสียงสะท้อนเล็กๆ จากนักเรียน นักศึกษากัน

นางสาวนีรชา วารีรำพึงเพลิน

นางสาวนีรชา วารีรำพึงเพลิน วัย 17 ปี  นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า ที่ผ่านมาเด็กใช้เวลากับการเรียนมากเกินไป รวมถึงส่วนใหญ่เนื้อหาของการเรียนก็เน้นไปที่ทฤษฎีมากกว่าการปฏิบัติจริงทำให้ค่อนข้างแคบ ไม่ได้เปิดกว้างอย่างที่ควรจะเป็น

“หนูมองว่าการศึกษาไทยค่อนข้างที่จะหนักเกินไปค่ะ ตั้งแต่เด็กจนโต เหมือนเราถูกสอนให้อยู่ในกรอบ หรือจะเรียกว่าอยู่ในกะลาเลยก็ว่าได้ เวลาเรียนยาวมาก คือตั้งแต่ 8 โมงเช้า ถึง 5 โมงเย็น และตำราเรียนหรือวิชาที่เรียนไม่ค่อยตอบโจทย์กับสายการเรียนที่เราจะต้องไปเจอในมหาวิทยาลัย เพราะว่าเรายังต้องไปเรียนเสริม อย่างหนูเองก็ต้องไปเรียนเสริมนอกโรงเรียน ไปต่อยอดเอาเอง เพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย หนูอยากให้เปลี่ยนตำราหรือหนังสือเรียนบทใหม่ๆ ให้ตอบโจทย์กับปัจจุบันให้มากกว่านี้ และอยากให้เน้นที่การปฏิบัติมากกว่าทฤษฎี อยากให้สอนในสิ่งที่ตรงโจทย์กับความต้องการของเด็ก และโรงเรียนควรให้โอกาสเด็กได้ยอมรับในความสามารถของตัวเอง มากกว่าเห็นความเก่งของคนอื่นแล้วต้องไปทำตาม หนูมองว่าการศึกษาไทยค่อนข้างแคบ ไม่เปิดกว้างทางความคิดเท่าที่ควรค่ะ

อีกส่วนที่สำคัญคือการสอนของคุณครูค่ะ บางครั้งสิ่งที่ครูสอน กับสิ่งที่ออกสอบ เป็นคนละเรื่องเลยค่ะ ทั้งที่ตำราที่บังคับให้ซื้อ เป็นตำราที่คุณครูเขียนเอง เนื้อหาข้างในคือเยอะมาก แต่พอถึงเวลาสอบ เรากลับต้องไปค้นคว้าหาข้อมูลในห้องสมุด เพื่อจับใจความเอง หนูคิดว่าถ้ามีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการศึกษา น่าจะทำให้ประเทศเรามีหัวกะทิของประเทศเพิ่มขึ้นขึ้น อาจจะได้คนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาบริหารประเทศได้มากกว่านี้ค่ะ”


นางสาวจัยดาอ์ สมาน

ด้านนางสาวจัยดาอ์ สมาน อายุ 17 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 สายศิลป์ภาษา (อังกฤษ-จีน) โรงเรียนสตรีภูเก็ต กล่าวว่า เนื้อหาการเรียนการสอนของไทยยังล้าสมัยอยู่บ้าง

“หนูอยากให้มีการเปลี่ยนแปลงด้านเนื้อหาการเรียนการสอน ให้ทันสมัยมากขึ้นค่ะ เนื้อหาที่เรียนทุกวันนี้หนูมองว่ายังไม่ค่อยครอบคลุมในเรื่องทางสังคมเท่าที่ควร และค่อนข้างที่จะมีความอนุรักษ์นิยม รวมถึงอยากให้การศึกษาไทย มีการปูพื้นฐานให้เกิดความเข้าใจ ไม่มีการเหยียดหรือดูถูกผู้อื่น และในปัจจุบันเรามีเพศที่หลากหลายมากขึ้น ก็อยากให้เพิ่มเติมในเรื่องสิทธิส่วนบุคคล ให้มีความเข้าใจกันและกัน

ในด้านศาสนาอยากให้มีการสอนให้เข้าใจในทุกๆ ด้านของศาสนาอย่างเท่าเทียม ไม่อยากให้เจาะจงไปทางศาสนาใดศาสนาหนึ่งค่ะ อยากให้เด็กมีอิสระมากขึ้น ในการเลือกเรียน มีส่วนร่วมในการเรียน และส่งเสริมความหลากหลายของนักเรียนแต่ละคน ความชอบ ความถนัด ที่แต่ละคนมีไม่เหมือนกัน ในส่วนของคุณครู อยากให้มีการสอนที่ทันสมัยมากขึ้นค่ะ ไม่ใช่แค่ให้อ่านจากในตำรา แต่อยากให้มีการแสดงความคิดเห็น การคิดวิเคราะห์ให้มากขึ้น เพื่อให้เรากล้าที่จะคิด กล้าที่จะแสดงออก เป็นการเรียนการสอนแบบ Critical Thinking ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ใช้ความคิดเยอะขึ้นค่ะ”


นายสหรัฐ ชำนาญรักษา

ส่วนนายสหรัฐ ชำนาญรักษา อายุ 16 ปี  นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 สายศิลป์ภาษา โรงเรียนสวนกุหลาบจิรประวัติ นครสวรรค์ บอกว่า ‘การบ้าน’ คือสิ่งที่ต้องมีการพูดถึงมากที่สุด

“สำหรับผมเรื่องที่อยากให้มีการปรับเปลี่ยนมากที่สุดคือเรื่องของ “การบ้าน” ครับ ปัจจุบันนี้การบ้านเยอะมากครับ โดยเฉพาะเมื่อมาเรียนออนไลน์ ส่วนตัวผมไม่มีปัญหากับรูปแบบการสอนที่มีอยู่นะครับ ผมว่ามีความหลากหลายที่เพียงพอแล้ว เพราะฉะนั้นรูปแบบการศึกษาแบบเดิมก็ได้ครับ แต่ขอให้ลดภาระเรื่องการบ้านลง หลังจากเราเลิกเรียนในแต่ละวันแล้ว เราควรได้ใช้เวลาที่เป็นอิสระบ้าง ไม่ควรจะต้องมาแบกภาระทำการบ้านต่อ หลังจากที่เราเรียนมาทั้งวันแล้ว ซึ่งตอนนี้ผมมีการบ้านแทบทุกวัน และแทบจะทุกวิชา ผมอยากให้ลดปริมาณการบ้านลงสัก 10-20% น่าจะดีครับ สำหรับเรื่องของระเบียบวินัย ผมว่าเป็นเรื่องปกติที่ทุกโรงเรียนต้องมีกฎระเบียบของตัวเองครับ ผมเป็นนักกีฬาของโรงเรียน เล่นฟุตบอลกับฟุตซอลครับ เพราะฉะนั้นส่วนของทฤษฎีสำหรับผมถือว่าเพียงพอแล้วครับ ก็เลยอยากมีเวลาไปซ้อมกีฬา เสริมทักษะให้กับตนเองมากกว่า เพราะที่โรงเรียนจะมีนักกีฬาประมาณ 30% ของนักเรียนทั้งชั้นครับ”

นอกจากความในใจของนักเรียนแล้ว เราก็มีความคิดเห็นของอาจารย์ที่ทำงานในระบบการศึกษาไทยเต็มตัวมาร่วมแชร์ความคิดเห็นกันด้วย


นายฐิติวัฒน์ แก้วชูทอง

โดยนายฐิติวัฒน์ แก้วชูทอง อายุ 25 ปี คุณครูประจำภาควิชาภาษาไทย โรงเรียนนานาชาติทรีนีตี้ บอกว่า เรื่องหลักสูตรการศึกษานั้น จำเป็นต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก

“ถ้าถามว่าอยากให้เปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไปในทิศทางไหน ผมรู้สึกว่า อันดับแรกคือต้องเปลี่ยนหลักสูตรก่อนเลยครับ หลักสูตรที่เด็กสามารถเข้าถึงได้ง่าย ไม่ยากเกินไป และเขาสามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวัน อย่างเช่นวิชาภาษาอังกฤษ ที่ครูไทยเอาแต่อัดแกรมม่าให้เด็ก โดยที่ไม่ได้สอนว่าหลักการใช้จริงๆ คืออะไร ทำให้เราไม่กล้าที่จะพูด และไม่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้จริงๆ ผมอยากให้หลักสูตรไทยลดในเรื่องของทฤษฎีให้น้อยลง และให้ความสำคัญกับกิจกรรมมากขึ้น อาจจะจัดกิจกรรมให้เด็กมีความกล้าแสดงออกในการพูด การสื่อสาร สนทนา อย่างที่โรงเรียนนานาชาติจะค่อนข้างให้อิสระกับเด็กและครู ในเรื่องการคิดการสอน เด็กจะมีความกล้าแสดงออกที่จะแลกเปลี่ยนความคิดกับคุณครู และการเรียนจะไม่ได้เข้มข้นเหมือนโรงเรียนไทย ที่จะต้องเรียนหนักทุกคราบ ที่นี่เด็กจะมีการทำโปรเจกต์ หรือมีการนั่งคุยพูดถึงเนื้อการเรียนกัน ผมมองว่าตรงนี้ทำให้เด็กรู้สึกสบายใจที่จะเรียนครับ

โรงเรียนไทยส่วนใหญ่ จะเข้มในเรื่อง personality มากกว่า ไปโฟกัสที่ทรงผม การแต่งกาย ที่ทำให้เด็กรู้สึกเหมือนโดนบังคับให้อยู่ในกรอบ อีกหนึ่งอย่างที่ผมรู้สึกว่าต้องปรับคือ ตัวคุณครูเอง ต้องเปิดรับความคิดของเด็กให้มากกว่านี้ ไม่ใช่แค่ปฏิรูปการศึกษา แต่อยากให้ปรับเปลี่ยนในเรื่องของความคิดคุณครูด้วยครับ ไม่เกี่ยวว่าฉันมีอายุมากกว่าเธอ เธอจะต้องฟังฉัน เหมือนผมมาสอนที่นี่ ผมอายุมากกว่าเขาไม่กี่ปี แต่ในห้องเรียน ผมก็เป็นฝ่ายที่รับฟังเขาเหมือนกัน ทุกโรงเรียนล้วนมีกฎระเบียบ แต่เราแค่ต้องมีเทคนิคในการพูด ที่ไม่ทำให้ดูเป็นการกดดัน หรือเคร่งครัดเขาเกินไป”

“ผมไม่ได้มองว่าโรงเรียนนานาชาติดีไปหมดทุกอย่าง ทุกโรงเรียนล้วนมีข้อดีข้อเสียที่ต่างกัน แต่ในมุมมองของผมที่ผมเรียนโรงเรียนไทยมา ผมเห็นข้อผิดพลาดที่เรารู้สึกว่าจริงๆ ควรได้ดีกว่านี้ อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ผมคิดว่าควรปรับใช้ในโรงเรียนไทยมากๆ คือการบูลลี่ เพราะว่าโรงเรียนนานาชาติให้ความสำคัญเรื่องบูลลี่เป็นอันดับ 1 เพราะเขารวมหลากหลายเชื้อชาติ เขามีวิธีจัดการกับปัญหาเมื่อเกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี ไม่ให้เด็กรู้สึกเป็นปมด้อย เหมือนอย่างที่เด็กไทยมักจะเจอ เวลาที่พูดภาษาอังกฤษผิด แล้วเพื่อนๆ ในชั้นเรียนหัวเราะเยาะ ทำให้เขาขาดความมั่นใจ และไม่กล้าพูดภาษาอังกฤษในที่สุด”


นางสาวจันจิรา ปัทมะสังข์

ด้านนางสาวจันจิรา ปัทมะสังข์ อายุ 29 ปี คุณครูโรงเรียนแสงทองวิทยา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา กล่าวว่า ระบบการศึกษาดูจะเปลี่ยนยาก แต่อยากให้เริ่มในเรื่องที่ทำได้เลยทันทีก่อน

“ถ้าจะให้ประเทศไทยเปลี่ยนระบบการศึกษาเลย อาจจะดูยากเกินไป แต่ถ้าในความคิดของครู อยากให้เด็กเรียนน้อยลงเน้นการปฏิบัติให้มากขึ้น ให้เขาได้ลงมือทำจริงๆ เรียนรู้จริงๆ โดยเฉพาะเรื่องมารยาทไทย การพูด หรือแม้กระทั่งการเอาใจใส่ต่อผู้อื่น เพราะตอนนี้เหมือนเป็นการแข่งขันกันเรียนมากกว่า เรียนเพื่อไปสอบแข่งขัน ถามว่านำไปใช้จริงได้ไหม ได้…แต่คือนำไปใช้ในการสอบแข่งขัน เด็กที่เก่งก็จะเก่งไปเลย เพราะได้รับการสนับสนุนที่ดีจากครอบครัว แต่เด็กบางคนที่ไม่เก่ง แล้วครอบครัวไม่มีเวลา ก็จะเป็นปัญหาในเรื่องการเรียนของเด็กต่อไปค่ะ”


ข้อเสนอแนะหรือการแสดงความคิดเห็น ล้วนไม่มีคำบ่งชี้ว่าผิดหรือถูก แต่เป็นการปลูกน้ำเชื้อให้เกิดการสังเคราะห์ คิดวิเคราะห์ และแผ่ขยาย หากการเรียนการสอนเป็นมากกว่าการชี้ชะตา ถูก หรือ ผิด อย่างเดิมๆ ที่เข้าใจ การปลูกฝังให้เด็กไทยได้เรียนรู้และแสดงความคิดในระยะที่ปลอดภัย ก็อาจช่วยให้สังคมไทยมีความเคารพในการคิดต่างของแต่ละบุคคลได้อย่างน่าชื่นชม

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้และ นโยบายในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า