“บริหารจัดการเงิน” รัฐ-พ่อแม่ต้องส่งเสริมช่วยเปลี่ยนอนาคตที่ดีให้เด็กได้ โค้ชหนุ่มบอก ควรถูกบรรจุในหลักสูตรกระทรวงศึกษา

โลกเราทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ยิ่งการระบาดของโควิด-19 ที่สร้างผลกระทบไปทั่วโลก ยิ่งเร้าความเปลี่ยนแปลงมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสังคม เศรษฐกิจ รวมถึงสิ่งแวดล้อม ภาวะโลกร้อนที่กำลังขยายตัวส่งผลกระทบเป็นวงกว้างมากขึ้นทุกทีๆ

การเตรียมพร้อม “ทักษะ” เพื่อให้เด็กยุคใหม่เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรได้รับการส่งเสริมอย่างจริงจัง

หนึ่งในนั้น คือ ทักษะเรื่อง “การจัดการการเงิน” ทักษะที่เด็กยุคใหม่ควรได้รับการส่งเสริมทั้งที่บ้านและโรงเรียน เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับโลกที่พวกเขาจะต้องเผชิญมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

โค้ชหนุ่ม-จักรพงษ์ เมษพันธุ์ เจ้าของเพจมันนี่โค้ช (Money Coach) เผยเหตุผลว่า ทำไมเด็กต้องมีความรู้เรื่อง “การจัดการการเงิน” เพราะ “ความรู้เรื่องการเงินเป็นวิชาที่คุ้มมาก เรียนครั้งเดียวใช้ได้ตลอดชีวิต”

สำหรับโค้ชหนุ่ม เจ้าของเพจ Money Coach สอนเรื่องการจัดการการเงิน ในคอนเซ็ปสร้างแรงบันดาลใจและนำพาคนไทยไปสู่สุขภาพการเงินที่ดี และมีความสุข มีผู้ติดตามเพจกว่า 7 แสนคน มีลูกชาย 2 คน ที่กำลังอยู่ในวัยประถมและมัธยม

โค้ชหนุ่ม เคยส่งลูกๆ เข้าเรียนตามระบบในโรงเรียน แต่เมื่อเห็นระบบการศึกษาปัจจุบันไม่ตอบโจทย์การแปลงเปลี่ยนของโลกยุคใหม่ จึงได้จัดการศึกษาให้ลูกเรียนที่บ้าน ในลักษณะโฮมสคูล (Home School) 

 “ถ้าวันหนึ่งเราไม่อยู่ คำถามคือลูกเราจะอยู่อย่างไร ทักษะในโรงเรียนที่ให้อยู่ทุกวันนี้พอไหม” โค้ชหนุ่มตั้งคำถามกับระบบการศึกษาปัจจุบัน

“ในชีวิตของคนๆ หนึ่งต้องมีทักษะอะไร คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ ผมว่าไม่ใช่ แต่คนๆ หนึ่งต้องรู้จักทักษะการเอาตัวรอด การฝึกแก้ปัญหา การรับมือกับความผิดหวัง การอยู่กับผู้คน ความเห็นอกเห็นใจ ภาษา รวมทั้งการสร้างรายได้”

“นี่จึงเป็นที่มาของโฮมสคูลที่เราออกแบบการเรียนการสอนของเราเอง ภายใต้กรอบคิดที่ว่า ถ้าวันนึง พ่อแม่ไม่อยู่ ลูกจะอยู่ได้ และอยู่ได้อย่างดีด้วย”

กระนั้น แม้จะให้ลูกเรียนโฮมสคูล แต่โค้ชหนุ่มก็ “ไม่ปิดกั้น” เส้นทางการศึกษา ยังคงวางเส้นทางเพื่อให้ลูกกลับไปสู่ระบบได้เหมือนเดิม

โค้ชหนุ่ม ระบุว่า ทักษะใหม่ที่เด็กยุคใหม่ควรมี ประกอบด้วย

  1. ทักษะความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก
  2. ทักษะความคิดแบบมีตรรกะ มีเหตุมีผล ซึ่งโยงไปเรื่องของการคิดให้อยู่กรอบเชิงกฎหมาย กรอบของศีลธรรมอันดีสอนลูก คนเราทำอะไรก็ได้ ไม่ควรกระทบสิทธิคนอื่น
  3. ทักษะการเป็นคนรักการเรียนรู้ อันนี้ต้องฝึก ไม่ใช่พรสวรรค์ ทักษะนี้จะเกิดขึ้นมาจากการตั้งคำถาม ถ้ากระตุ้นจากการตั้งคำถาม จากนั้นไปสู่ขั้นตอนการค้นคว้า ทำให้เด็กเป็นนักเรียนรู้ เพราะการเรียนรู้ไม่รู้จบ
  4. ทักษะความอดทน หรือความทนทาน ความทนทานต่อทุกๆ เรื่องที่ผ่านเข้ามาในชีวิต
  5. ทักษะการจัดการการเงิน
  6. ทักษะดิจิทัล
  7. ทักษะเรื่องความปลอดภัย การใช้ชีวิตโดยการคำนึงถึงความปลอดภัยหรือเซฟตี้ไว้ก่อน
  8. ทักษะด้านภาษา ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ หรือภาษาอื่นๆ

สำหรับ “ทักษะด้านการเงิน” นั้น โค้ชหนุ่ม แนะนำผู้ปกครองสอนลูกเรื่องการจัดการการเงิน โดยแบ่งเป็นระดับ ดังนี้      

“อนุบาล-ประถมต้น” ยังไม่ต้องใช้คำว่าเงิน สอนให้ลูกดูแลข้าวของเครื่องใช้ของเขาได้ดี ดินสอใช้ได้นาน ให้ชื่นชม เก่งมากเลย หรือคุยกับเขา ถ้าเป็นแม่จะซื้อของแพคใหญ่จะดีกว่า เพราะลูกกินอยู่แล้ว ใช้อยู่แล้ว อาจจะสอนง่ายๆ แบบนี้ก็ได้

“ประถมปลาย” วัยนี้จะเริ่มเข้าใจเรื่องตัวเลข สอนจากการให้ค่าขนม โดยมีกติกา กินเท่าไหร่ก็ได้ แต่ขอให้เหลือกลับมา แล้วถามเขา ให้ค่าขนมไปใช้อะไรบ้าง ถ้าวันไหนใช้หมด ก็ถามว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ไม่ต้องซีเรียส

นอกจากนี้ เราอาจมีกระปุกออมสินให้เขาเก็บเงิน เมื่อเก็บเงินได้ก็พาไปธนาคารเปิดบัญชี ไปใช้บริการเครื่องมือทางการเงิน เป็นกิจกรรมง่ายๆ ที่ให้เขาได้ทำจากประสบการณ์จริง

“มัธยมต้น” สอนด้วยการเริ่มให้เงินเป็นสัปดาห์ ให้เงินเป็นเดือน เพื่อฝึกจัดการการเงินของเขาเอง ให้เขาฝึกทำตัวเลขทางการเงิน บอกว่า ไม่เป็นไรถ้าใช้หมดก่อน แล้วมาคุยกัน ถือเป็นการสอนเรื่องเงินที่ครบวงจรและมีเหตุมีผล ส่วนการออมก็เน้นมากขึ้น เริ่มสอนเครื่องมือง่ายๆ เกี่ยวกับการเงิน เช่น สลากออมทรัพย์ เป็นต้น

“ม.ปลาย” สามารถสอนเรื่องการลงทุนต่างๆ ได้แล้ว รวมถึงสอนการสร้างรายได้

“ทั้งหมด 4 อย่าง 1.การปลูกฝังฐานการใช้จ่ายประหยัด 2.การบริหารการเงิน 3.การหารายได้ 4.การลงทุน แค่นี้เอง ความรู้การเงินเป็นวิชาที่คุ้มมาก เพราะเรียนครั้งเดียว ใช้ได้ตลอดชีวิต”

เมื่อความรู้เรื่องการเงินเป็นสิ่งสำคัญ โค้ชหนุ่ม จึงผลักดันเรื่องนี้ให้คนไทยมีความรู้เรื่องการเงินมาตลอด 16 ปี ล่าสุดเปิดคอร์สการเงินออนไลน์สำหรับเด็กม.ต้น ซึ่งมีน้องๆ เรียนหลักสูตรนี้แล้ว 1,000 กว่าคน นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรเฟิร์ส จ๊อบเปอร์ สำหรับเด็กจบใหม่ รวมถึงหลักสูตรแฟมิลี่ไฟแนนซ์ สำหรับผู้ปกครองด้วย

“ผมอยากให้มีการบรรจุเรื่องการจัดการเงินลงในหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ผ่านมาสอนแต่เรื่องการออม ซึ่งไม่เพียงพอ เพราะโลกของการเงินไปไกลกว่านั้นแล้ว”

โคชหนุ่ม

“การสอนการเงินควรสอนให้ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน ยกตัวอย่างง่ายๆ เรื่องใบแจ้งหนี้ค่าไฟ ต้องดูยังไง ค่าไฟทำไมเพิ่มทำไมลด หรือจะผสมไว้ในวิชาเลขก็ได้”

อย่างไรก็ตาม โค้ชหนุ่มย้ำว่า สิ่งหนึ่งที่ต้องสอนควบคู่ไปกับเรื่องเงินคือ เงินไม่ใช่สิ่งสำคัญในชีวิต เมื่อสอนเรื่องเงิน เราต้องพยายามแทรกในมุมต่างๆ ทำให้เขาใช้ชีวิตพอเหมาะพอสม จัดการชีวิตให้มีความสุขโดยที่ปราศจากปัญหาเรื่องการเงิน

“ถ้าคนๆ หนึ่งไม่ปัญหาเรื่องการเงิน ระหว่างทางมีการป้องกันของชีวิต เกิดอุบัติเหตุจัดการได้ เกษียณไม่มีหนี้ มีเงินเก็บเงินกินเงินใช้ตามฐานะ จัดการเงินได้ มีชีวิตที่หมดกังวลเรื่องเงินๆ ทองๆ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ เพราะการที่ประชาชนที่เป็นหน่วยเล็กที่สุด ดูแลตัวเองได้อย่างเหมาะสม คน 70 เปอร์เซ็นต์ของประเทศดูแลตัวเองได้ ประเทศก็จะมั่งคั่งได้

เพราะมีความรู้ที่สำคัญในการดำรงชีวิต ก็เป็นเรื่องจำเป็นที่เด็กควรมีความรู้เรื่องการเงินตั้งแต่วันเรียน ปลูกฝังตั้งแต่เด็กๆ ชีวิตที่ไม่ต้องกังวลเรื่องเงินๆ ทองๆ เพราะบริหารจัดการเงินเป็นก็จะมีความสุขได้”

โค้ชหนุ่มทิ้งท้าย


ขอบคุณรูปจากเพจ Money Coach

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้และ นโยบายในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า