จุดเริ่มต้นเล็กๆ จากพื้นที่ในบ้านสู่การสร้างพื้นที่เรียนรู้ในชุมชน  ​​นวัตกรรมเติมเต็มความ “สุข”และทักษะชีวิต ผ่านการเล่น

“ถ้าเด็กอยากเล่นอะไรเราก็ต้องอำนวยความสะดวกให้เขาได้เล่น หรือถ้าเราอยากให้เด็กเรียนรู้เรื่องอะไร เราก็จะต้องสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ และเราจะพบว่าการเล่นนั้นสามารถบ่งบอกถึงพรสวรรค์ของเด็กได้”

เป็นคำกล่าวของ “ครูนิ้ง” กัญญาวีร์ ฟักทอง จาก “ศูนย์เรียนรู้บ้านเรียนฟักทอง” อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ถึงคุณค่าและความสำคัญของการเล่น ที่ได้ค้นพบจากประสบการณ์ในการทำงานเป็นครูอาสาทำงานกับเด็กๆ ในชุมชน สั่งสมองค์ความรู้จนต่อยอดมาสู่การจัดการเรียนรู้แบบ Home School ให้กับลูกๆ ทั้ง 3 คน ด้วยแนวคิดเรียนไปเล่นไปอยากทำอะไรก็ได้ทำ

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาสถานที่อันสงบร่มรื่นกลมกลืนไปกับธรรมชาติและท้องทุ่งนาตามวิถีเกษตรกรรมของบ้านเรียนฟักทองนั้นได้ถูกใช้เป็นพื้นที่เล่นเรียนรู้ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์ทั้งดนตรี กีฬา ศิลปะ ทักษะชีวิต ฯลฯ เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัวในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง แต่การเกิดขึ้นของสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เด็กๆ ถูกกักตัวอยู่แต่ในบ้านพร้อมความหวาดกลัวและหวาดระแวงจนต้องเผชิญกับปัญหาการเรียนรู้ถดถอยหรือ Learning Loss ที่ส่งผลต่อพัฒนาการทุกๆ ด้าน

“การเล่นสามารถเติมเต็มการเรียนรู้ถดถอยให้เด็กได้ เป็นการบ่มเพาะเด็กให้เรียนรู้ว่าในทุกวิกฤติมีทางออก พวกเขาสามารถปฏิบัติตามกฎกติกาของสังคมได้โดยไม่ต้องสูญเสียความสุขไป”

ครูนิ้งเล่าถึงประโยชน์ของการเล่นท่ามกลางสภาวการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้น

ดังนั้นเมื่อเด็กต้องการเล่น แต่ออกนอกพื้นที่ไม่ได้ ในระยะแรกครอบครัวฟักทองจึงแก้ปัญหาด้วยการขับมอเตอร์ไซด์พ่วงรถเข็น นำของเล่นและอุปกรณ์สนับสนุนการเล่นไปส่งให้ถึงบ้าน  เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายก็เริ่มสำรวจพื้นที่ในชุมชน “บ้านหัวแท” และ “บ้านแหลมโพธิ์” ว่ามีที่ไหนที่เด็กๆ ชอบไปรวมตัวกัน ก็จะนำรถตู้คันเล็กๆ ใส่ของเล่นไปจอดไว้ใต้ร่มไม้ หรือศาลาเอนกประสงค์ของหมู่บ้าน

เริ่มจากการนำของไปให้เด็กเล่น ต่อมาก็เริ่มชวนเชิญเด็กและผู้ปกครองทำของเล่น อยากเล่นอะไรก็ทำสิ่งนั้น ขยายผลไปสู่การขอความร่วมมือจากคนในชุมชนที่เริ่มเห็นความสำคัญของการเล่น มองหาพื้นที่ว่างเพื่อสร้างเป็นพื้นที่เล่นให้กับเด็กๆ ที่ต่อมาได้พัฒนาจนเป็น การส่งเสริมการเล่นอิสระในชุมชน ตามหย่อมบ้าน “เล่นหย่อมบ้าน” โดยมี สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.), มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) และสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้การสนับสนุน เพื่อเติมเต็มความสุขและความทรงจำดีๆ ในวัยเด็ก สร้างการเรียนรู้ที่หลากหลายผ่านการเล่นแบบองค์รวม หรือ Soft Skill ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยให้เด็กที่จะเติบโตขึ้นเป็นกำลังสำคัญของชาติสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในโลกอนาคตได้เป็นอย่างดี

“ข้อดีที่สำคัญของการเล่นหย่อมบ้านคือ เด็กสามารถเข้าถึงการเล่นได้ทุกวัย ซึ่งที่ผ่านมาคนในชุมชนจะไม่มีความรู้และไม่เข้าใจการเล่นให้ความสำคัญกับการเรียน มองว่าการเล่นไม่มีความจำเป็น แต่เมื่อมีการเล่นในพื้นที่ของหย่อมบ้าน พ่อแม่ตายายก็จะได้เห็นว่าเด็กเล่นแล้วเป็นอย่างไร มีความสุขแค่ไหน ได้ทำอะไรบ้างจากการที่เด็กๆ ก็จะนำผลงานมาโชว์ เราก็จะสนับสนุนอุปกรณ์การเล่นเพื่อให้เขาได้กลับไปเล่นที่บ้านด้วย ผู้ปกครองก็จะเริ่มสังเกตและเข้าใจว่าเด็กชอบเล่นอะไร เห็นพรสวรรค์ เห็นความสนใจในเรื่องต่างๆ ในตัวของเด็ก และเข้าใจการเล่นมากขึ้น ก็เริ่มเข้ามาร่วมเป็นอาสาสมัครและเปิดบ้านให้เด็กได้เล่นอย่างมีความสุข” ครูนิ้งระบุถึงข้อดีของการเล่นหย่อมบ้าน

ทางด้าน ย่าอ่อน ยิ้มมาก ผู้ปกครองของ “น้องนิค” และ “น้องนัท” ที่เปิดพื้นที่ใต้ร่มไม้ใหญ่ข้างบ้านให้เป็นพื้นที่เล่นเรียนรู้ของเด็กๆ เล่าว่า การเล่นทำให้เด็กร่าเริง และมีความสุข ส่วนตนเองอายุมากแล้วจะพาเด็กออกไปที่ไหนก็ลำบากและมีค่าใช้จ่าย จึงอยากให้มาจัดกิจกรรมที่บ้านเพื่อให้เด็กในชุมชนได้มีที่เล่นสนุก เพราะหลานเล่นกันเองแค่ 2 คนก็เหงา แต่พอมีแบบนี้เขาก็จะสนุกเพราะมีเพื่อนเล่น และครูก็จะมาช่วยสอนวิธีในการช่วยดูแลเด็กๆ ระหว่างที่เล่นด้วย

อานิสา ส่งประสาทศิลป์ คุณแม่ของ “น้องเนส” และ “น้องปาน” เล่าถึงการเล่นหย่อมบ้านว่า มีประโยชน์มากเพราะตนเองต้องทำงานและไม่สามารถพาออกไปเที่ยวหรือไปแหล่งเรียนรู้ที่อื่นๆ ได้

“เด็กๆ ได้เล่นอย่างอิสระ ได้วาดรูป ทำงานประดิษฐ์ และยังมีของให้ไปเล่นต่อที่บ้าน ส่วนตัวของน้องเนสชอบวาดรูปและมีพรสวรรค์ในเรื่องนี้ ก็เลยไม่ห้ามและสนับสนุน โดยเฉพาะที่ผนังบ้านตอนนี้มีแต่ภาพวาดฝีมือของลูกสาวเต็มไปหมด ทุกวันหยุดลูกๆ จะคอยถามถึงครูและพี่ๆ ตลอด และรอคอยที่จะได้มาเล่นสนุกกับเพื่อนๆ ส่วนน้องปานชอบเล่นขายของ”

แม่อานิสากล่าว

โดยพื้นที่เล่นหย่อมบ้านข้างบ้านของย่าอ่อน ในวันนี้ได้มีจัดทำชิงช้า โดยความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชนเพื่อให้เด็กๆ ได้มีของเล่นจากธรรมชาติ เท่าที่เห็นการเล่นหย่อมบ้านนั้นเรียบง่าย ไม่มีพิธีรีตอง ของเล่นต่างๆ ถูกหยิบมาจัดวาง และถูกนำไปประกอบการเล่นได้อย่างอิสระตามแต่จิตนาการของเด็กแต่ละคน โดยมี “พี่(เป็นเพื่อน) เล่น” ทำหน้าที่เป็น Play Workerที่คอยอำนวยสะดวก สนับสนุนและช่วยเหลือในสิ่งที่เด็กๆ ถามหา ที่เหลือก็ปล่อยให้การเล่นสนุก นำพาไปสู่ความสุข และการเรียนรู้โดยเริ่มต้นการทดลองทำทั้งผิดและถูกจนเจอผลลัพธ์ด้วยตัวของแต่ละคนเอง

“พี่ชี๊ค” ณัฐภัทร และ “พี่เชียร์” วิภาปวีณ์ ฟักทอง สองพี่น้องที่มาช่วยคุณแม่ทำกิจกรรมในพื้นที่ด้วยการทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการเล่นในสไตล์ “พี่เล่น” เล่าว่าทั้งคู่มีหน้าที่ในการเตรียมความพร้อมในการทำกิจกรรม ทั้งการเตรียมสถานที่ อุปกรณ์การเล่น และดูแลความปลอดภัยให้กับน้องๆ

“เมื่อนำของเล่นมาวางเราจะคอยสังเกตว่าเด็กอยากเล่นอะไร จะไม่เข้าไปชี้นำ หรือตัดสินใจ ส่วนการเล่นที่จะต้องใช้คนเยอะๆ ก็จะทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมในการหาผู้เล่นให้ สิ่งสำคัญคือเราจะต้องคอยดูสภาพแวดล้อม บรรยากาศ บริบทของพื้นที่ ว่ามีความขัดแย้งหรือเด็กกล้าแสดงออกไหม แล้วเราจะต้องเติมทักษะด้านใดเข้าไปเพื่อเติมเต็มความสุขของน้องๆ ณ ช่วงเวลานั้น ซึ่งการเล่นสามารถสร้างการเรียนรู้และซึมซับทัศนคติและวิธีคิดที่ดี รวมถึงการแก้ปัญหาที่ถูกต้องให้กับเด็กๆ ได้”

พี่ชี๊คเล่า

“หน้าที่หลักก็คือเล่นกับน้อง เป็นเพื่อนเล่นเพื่อลดช่องว่างระหว่างคุณแม่กับเด็กๆ แต่ในการเล่นเราจะไม่เข้าไปแทรกแซง ทำหน้าที่สนับสนุนให้เขาได้คิดและลงมือเอง  เพื่อให้เกิดจินตนาการที่หลากหลาย เพราะจริงๆ แล้วเด็กๆ ต้องการคนที่จะเข้ามาเพิ่มความมั่นใจว่าเขาสามารถทำในสิ่งต่างๆ ได้  ระหว่างที่น้องๆ เล่นเราก็จะสังเกตและมองเห็นถึงทักษะในการแก้ปัญหา การพูดคุยเจรจาต่อรองของของเล่นจากเพื่อน รู้จักการแบ่งปัน ซึ่งเป็น Soft Skill ที่จำเป็นเมื่อเขาเติบโตขึ้น”

พี่เชียร์เล่า

ในวันนี้การ “เล่นหย่อมบ้าน” จากการขับเคลื่อนของศูนย์เรียนรู้บ้านเรียนฟักทองได้ขยายพื้นที่ทำงานออกไปในทั้งสองชุมชน โดยมีพื้นที่แห่งความสุขมากกว่า 5 จุด มีเด็กและเยาวชนที่ได้รับการดูแลไม่น้อยกว่า 100 คน รวมไปถึงมีการจัดกิจกรรมการเล่นลงไปในโรงเรียนขยายโอกาสในพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ มีการพัฒนาเครือข่าย Play Worker จิตอาสาเข้ามาร่วมกันทำงาน ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากความต้องการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในชุมชนให้กับเด็กๆ ของครูนิ้งและครอบครัว  พร้อมกับเตรียมยกระดับพื้นที่ในปัจจุบันไปสู่การเป็น  “มานา มานะ Learning Space” เพื่อต่อยอดไปสู่การเป็น Farm / Home Stay & Cafe และปักหมุดหมายใหม่ของพื้นที่เรียนรู้ที่ใช้การเล่นเป็นสื่อกลางให้กับคนทุกเพศวัย โดยมีเป้าหมายในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันครอบครัว

ครูนิ้ง

“การเล่นทำให้เด็กมีพื้นที่ความทรงจำที่ดีและสามารถเยียวยาสภาพจิตใจจากภาวะซึมเศร้าที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันได้  เพราะในความเป็นมนุษย์มีมิติการเรียนรู้ที่สำคัญสองด้าน คือ Hard Skill หรือความรู้ด้านวิชาการ และ Soft Skill ที่จะเกิดขึ้นผ่านการเล่นที่ช่วยสร้างให้เกิดการเรียนรู้แบบองค์รวม ซึ่งเป็นทักษะทางสังคมที่มีความสำคัญเพื่อการปรับตัวและมีชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข ปัจจุบันเราอาจไม่ได้ต้องการของเล่นหรือพื้นที่เล่น แต่เราต้องการสังคมที่มีทัศนคติและเข้าใจคุณค่าของการเล่นและเห็นความสำคัญของเด็กๆ ครูก็สามารถที่จะสอนผ่านการเล่นได้โดยวิชาการไม่ได้หายไป เพราะการ Play & Learn ไปพร้อมกันนั้นเด็กจะจดจำได้มากกว่าการท่องจำ ส่วนพ่อแม่สามารถนำวิชาชีวิตมาใช้เป็นกิจกรรมที่สร้างการเรียนรู้ร่วมกันในครอบครัวได้ ” ครูนิ้งกล่าวสรุป

การ “เล่น”  ในวันนี้จึงไม่เรื่อง “เล่นๆ” อีกต่อไป  เพราะการเล่นของเด็กๆ เชื่อมโยงไปสู่การสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว ที่มีผลลัพธ์คือสถาบันครอบครัวและสังคมที่เข้มแข็ง.

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้และ นโยบายในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า