จุดเริ่มต้นเล็กๆ จากพื้นที่ในบ้านสู่การสร้างพื้นที่เรียนรู้ในชุมชน  ​​นวัตกรรมเติมเต็มความ “สุข”และทักษะชีวิต ผ่านการเล่น

“ถ้าเด็กอยากเล่นอะไรเราก็ต้องอำนวยความสะดวกให้เขาได้เล่น หรือถ้าเราอยากให้เด็กเรียนรู้เรื่องอะไร เราก็จะต้องสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ และเราจะพบว่าการเล่นนั้นสามารถบ่งบอกถึงพรสวรรค์ของเด็กได้”

เป็นคำกล่าวของ “ครูนิ้ง” กัญญาวีร์ ฟักทอง จาก “ศูนย์เรียนรู้บ้านเรียนฟักทอง” อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ถึงคุณค่าและความสำคัญของการเล่น ที่ได้ค้นพบจากประสบการณ์ในการทำงานเป็นครูอาสาทำงานกับเด็กๆ ในชุมชน สั่งสมองค์ความรู้จนต่อยอดมาสู่การจัดการเรียนรู้แบบ Home School ให้กับลูกๆ ทั้ง 3 คน ด้วยแนวคิดเรียนไปเล่นไปอยากทำอะไรก็ได้ทำ

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาสถานที่อันสงบร่มรื่นกลมกลืนไปกับธรรมชาติและท้องทุ่งนาตามวิถีเกษตรกรรมของบ้านเรียนฟักทองนั้นได้ถูกใช้เป็นพื้นที่เล่นเรียนรู้ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์ทั้งดนตรี กีฬา ศิลปะ ทักษะชีวิต ฯลฯ เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัวในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง แต่การเกิดขึ้นของสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เด็กๆ ถูกกักตัวอยู่แต่ในบ้านพร้อมความหวาดกลัวและหวาดระแวงจนต้องเผชิญกับปัญหาการเรียนรู้ถดถอยหรือ Learning Loss ที่ส่งผลต่อพัฒนาการทุกๆ ด้าน

“การเล่นสามารถเติมเต็มการเรียนรู้ถดถอยให้เด็กได้ เป็นการบ่มเพาะเด็กให้เรียนรู้ว่าในทุกวิกฤติมีทางออก พวกเขาสามารถปฏิบัติตามกฎกติกาของสังคมได้โดยไม่ต้องสูญเสียความสุขไป”

ครูนิ้งเล่าถึงประโยชน์ของการเล่นท่ามกลางสภาวการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้น

ดังนั้นเมื่อเด็กต้องการเล่น แต่ออกนอกพื้นที่ไม่ได้ ในระยะแรกครอบครัวฟักทองจึงแก้ปัญหาด้วยการขับมอเตอร์ไซด์พ่วงรถเข็น นำของเล่นและอุปกรณ์สนับสนุนการเล่นไปส่งให้ถึงบ้าน  เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายก็เริ่มสำรวจพื้นที่ในชุมชน “บ้านหัวแท” และ “บ้านแหลมโพธิ์” ว่ามีที่ไหนที่เด็กๆ ชอบไปรวมตัวกัน ก็จะนำรถตู้คันเล็กๆ ใส่ของเล่นไปจอดไว้ใต้ร่มไม้ หรือศาลาเอนกประสงค์ของหมู่บ้าน

เริ่มจากการนำของไปให้เด็กเล่น ต่อมาก็เริ่มชวนเชิญเด็กและผู้ปกครองทำของเล่น อยากเล่นอะไรก็ทำสิ่งนั้น ขยายผลไปสู่การขอความร่วมมือจากคนในชุมชนที่เริ่มเห็นความสำคัญของการเล่น มองหาพื้นที่ว่างเพื่อสร้างเป็นพื้นที่เล่นให้กับเด็กๆ ที่ต่อมาได้พัฒนาจนเป็น การส่งเสริมการเล่นอิสระในชุมชน ตามหย่อมบ้าน “เล่นหย่อมบ้าน” โดยมี สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.), มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) และสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้การสนับสนุน เพื่อเติมเต็มความสุขและความทรงจำดีๆ ในวัยเด็ก สร้างการเรียนรู้ที่หลากหลายผ่านการเล่นแบบองค์รวม หรือ Soft Skill ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยให้เด็กที่จะเติบโตขึ้นเป็นกำลังสำคัญของชาติสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในโลกอนาคตได้เป็นอย่างดี

“ข้อดีที่สำคัญของการเล่นหย่อมบ้านคือ เด็กสามารถเข้าถึงการเล่นได้ทุกวัย ซึ่งที่ผ่านมาคนในชุมชนจะไม่มีความรู้และไม่เข้าใจการเล่นให้ความสำคัญกับการเรียน มองว่าการเล่นไม่มีความจำเป็น แต่เมื่อมีการเล่นในพื้นที่ของหย่อมบ้าน พ่อแม่ตายายก็จะได้เห็นว่าเด็กเล่นแล้วเป็นอย่างไร มีความสุขแค่ไหน ได้ทำอะไรบ้างจากการที่เด็กๆ ก็จะนำผลงานมาโชว์ เราก็จะสนับสนุนอุปกรณ์การเล่นเพื่อให้เขาได้กลับไปเล่นที่บ้านด้วย ผู้ปกครองก็จะเริ่มสังเกตและเข้าใจว่าเด็กชอบเล่นอะไร เห็นพรสวรรค์ เห็นความสนใจในเรื่องต่างๆ ในตัวของเด็ก และเข้าใจการเล่นมากขึ้น ก็เริ่มเข้ามาร่วมเป็นอาสาสมัครและเปิดบ้านให้เด็กได้เล่นอย่างมีความสุข” ครูนิ้งระบุถึงข้อดีของการเล่นหย่อมบ้าน

ทางด้าน ย่าอ่อน ยิ้มมาก ผู้ปกครองของ “น้องนิค” และ “น้องนัท” ที่เปิดพื้นที่ใต้ร่มไม้ใหญ่ข้างบ้านให้เป็นพื้นที่เล่นเรียนรู้ของเด็กๆ เล่าว่า การเล่นทำให้เด็กร่าเริง และมีความสุข ส่วนตนเองอายุมากแล้วจะพาเด็กออกไปที่ไหนก็ลำบากและมีค่าใช้จ่าย จึงอยากให้มาจัดกิจกรรมที่บ้านเพื่อให้เด็กในชุมชนได้มีที่เล่นสนุก เพราะหลานเล่นกันเองแค่ 2 คนก็เหงา แต่พอมีแบบนี้เขาก็จะสนุกเพราะมีเพื่อนเล่น และครูก็จะมาช่วยสอนวิธีในการช่วยดูแลเด็กๆ ระหว่างที่เล่นด้วย

อานิสา ส่งประสาทศิลป์ คุณแม่ของ “น้องเนส” และ “น้องปาน” เล่าถึงการเล่นหย่อมบ้านว่า มีประโยชน์มากเพราะตนเองต้องทำงานและไม่สามารถพาออกไปเที่ยวหรือไปแหล่งเรียนรู้ที่อื่นๆ ได้

“เด็กๆ ได้เล่นอย่างอิสระ ได้วาดรูป ทำงานประดิษฐ์ และยังมีของให้ไปเล่นต่อที่บ้าน ส่วนตัวของน้องเนสชอบวาดรูปและมีพรสวรรค์ในเรื่องนี้ ก็เลยไม่ห้ามและสนับสนุน โดยเฉพาะที่ผนังบ้านตอนนี้มีแต่ภาพวาดฝีมือของลูกสาวเต็มไปหมด ทุกวันหยุดลูกๆ จะคอยถามถึงครูและพี่ๆ ตลอด และรอคอยที่จะได้มาเล่นสนุกกับเพื่อนๆ ส่วนน้องปานชอบเล่นขายของ”

แม่อานิสากล่าว

โดยพื้นที่เล่นหย่อมบ้านข้างบ้านของย่าอ่อน ในวันนี้ได้มีจัดทำชิงช้า โดยความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชนเพื่อให้เด็กๆ ได้มีของเล่นจากธรรมชาติ เท่าที่เห็นการเล่นหย่อมบ้านนั้นเรียบง่าย ไม่มีพิธีรีตอง ของเล่นต่างๆ ถูกหยิบมาจัดวาง และถูกนำไปประกอบการเล่นได้อย่างอิสระตามแต่จิตนาการของเด็กแต่ละคน โดยมี “พี่(เป็นเพื่อน) เล่น” ทำหน้าที่เป็น Play Workerที่คอยอำนวยสะดวก สนับสนุนและช่วยเหลือในสิ่งที่เด็กๆ ถามหา ที่เหลือก็ปล่อยให้การเล่นสนุก นำพาไปสู่ความสุข และการเรียนรู้โดยเริ่มต้นการทดลองทำทั้งผิดและถูกจนเจอผลลัพธ์ด้วยตัวของแต่ละคนเอง

“พี่ชี๊ค” ณัฐภัทร และ “พี่เชียร์” วิภาปวีณ์ ฟักทอง สองพี่น้องที่มาช่วยคุณแม่ทำกิจกรรมในพื้นที่ด้วยการทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการเล่นในสไตล์ “พี่เล่น” เล่าว่าทั้งคู่มีหน้าที่ในการเตรียมความพร้อมในการทำกิจกรรม ทั้งการเตรียมสถานที่ อุปกรณ์การเล่น และดูแลความปลอดภัยให้กับน้องๆ

“เมื่อนำของเล่นมาวางเราจะคอยสังเกตว่าเด็กอยากเล่นอะไร จะไม่เข้าไปชี้นำ หรือตัดสินใจ ส่วนการเล่นที่จะต้องใช้คนเยอะๆ ก็จะทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมในการหาผู้เล่นให้ สิ่งสำคัญคือเราจะต้องคอยดูสภาพแวดล้อม บรรยากาศ บริบทของพื้นที่ ว่ามีความขัดแย้งหรือเด็กกล้าแสดงออกไหม แล้วเราจะต้องเติมทักษะด้านใดเข้าไปเพื่อเติมเต็มความสุขของน้องๆ ณ ช่วงเวลานั้น ซึ่งการเล่นสามารถสร้างการเรียนรู้และซึมซับทัศนคติและวิธีคิดที่ดี รวมถึงการแก้ปัญหาที่ถูกต้องให้กับเด็กๆ ได้”

พี่ชี๊คเล่า

“หน้าที่หลักก็คือเล่นกับน้อง เป็นเพื่อนเล่นเพื่อลดช่องว่างระหว่างคุณแม่กับเด็กๆ แต่ในการเล่นเราจะไม่เข้าไปแทรกแซง ทำหน้าที่สนับสนุนให้เขาได้คิดและลงมือเอง  เพื่อให้เกิดจินตนาการที่หลากหลาย เพราะจริงๆ แล้วเด็กๆ ต้องการคนที่จะเข้ามาเพิ่มความมั่นใจว่าเขาสามารถทำในสิ่งต่างๆ ได้  ระหว่างที่น้องๆ เล่นเราก็จะสังเกตและมองเห็นถึงทักษะในการแก้ปัญหา การพูดคุยเจรจาต่อรองของของเล่นจากเพื่อน รู้จักการแบ่งปัน ซึ่งเป็น Soft Skill ที่จำเป็นเมื่อเขาเติบโตขึ้น”

พี่เชียร์เล่า

ในวันนี้การ “เล่นหย่อมบ้าน” จากการขับเคลื่อนของศูนย์เรียนรู้บ้านเรียนฟักทองได้ขยายพื้นที่ทำงานออกไปในทั้งสองชุมชน โดยมีพื้นที่แห่งความสุขมากกว่า 5 จุด มีเด็กและเยาวชนที่ได้รับการดูแลไม่น้อยกว่า 100 คน รวมไปถึงมีการจัดกิจกรรมการเล่นลงไปในโรงเรียนขยายโอกาสในพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ มีการพัฒนาเครือข่าย Play Worker จิตอาสาเข้ามาร่วมกันทำงาน ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากความต้องการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในชุมชนให้กับเด็กๆ ของครูนิ้งและครอบครัว  พร้อมกับเตรียมยกระดับพื้นที่ในปัจจุบันไปสู่การเป็น  “มานา มานะ Learning Space” เพื่อต่อยอดไปสู่การเป็น Farm / Home Stay & Cafe และปักหมุดหมายใหม่ของพื้นที่เรียนรู้ที่ใช้การเล่นเป็นสื่อกลางให้กับคนทุกเพศวัย โดยมีเป้าหมายในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันครอบครัว

ครูนิ้ง

“การเล่นทำให้เด็กมีพื้นที่ความทรงจำที่ดีและสามารถเยียวยาสภาพจิตใจจากภาวะซึมเศร้าที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันได้  เพราะในความเป็นมนุษย์มีมิติการเรียนรู้ที่สำคัญสองด้าน คือ Hard Skill หรือความรู้ด้านวิชาการ และ Soft Skill ที่จะเกิดขึ้นผ่านการเล่นที่ช่วยสร้างให้เกิดการเรียนรู้แบบองค์รวม ซึ่งเป็นทักษะทางสังคมที่มีความสำคัญเพื่อการปรับตัวและมีชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข ปัจจุบันเราอาจไม่ได้ต้องการของเล่นหรือพื้นที่เล่น แต่เราต้องการสังคมที่มีทัศนคติและเข้าใจคุณค่าของการเล่นและเห็นความสำคัญของเด็กๆ ครูก็สามารถที่จะสอนผ่านการเล่นได้โดยวิชาการไม่ได้หายไป เพราะการ Play & Learn ไปพร้อมกันนั้นเด็กจะจดจำได้มากกว่าการท่องจำ ส่วนพ่อแม่สามารถนำวิชาชีวิตมาใช้เป็นกิจกรรมที่สร้างการเรียนรู้ร่วมกันในครอบครัวได้ ” ครูนิ้งกล่าวสรุป

การ “เล่น”  ในวันนี้จึงไม่เรื่อง “เล่นๆ” อีกต่อไป  เพราะการเล่นของเด็กๆ เชื่อมโยงไปสู่การสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว ที่มีผลลัพธ์คือสถาบันครอบครัวและสังคมที่เข้มแข็ง.

สานพลังเครือข่าย 4 จังหวัด “เขาใหญ่ดีจัง” ร่วมขับเคลื่อนสังคมแห่งการเรียนรู้

“เขาใหญ่” เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทย มีพื้นที่ครอบคลุมมากถึง 4 จังหวัดคือสระบุรี นครราชสีมา ปราจีนบุรี และนครนายก นับเป็นพื้นที่เรียนรู้ที่ทรงคุณค่า โดยมีต้นทุนด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอันอุดมสมบูรณ์ เป็นเครื่องมือสำคัญที่ถูกนำมาใช้ในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ได้ในหลายมิติสำหรับคนทุกช่วงวัย

ด้วยศักยภาพดังกล่าวทาง “เครือข่ายเขาใหญ่ดีจัง” ซึ่งเป็นกลุ่มนักกิจกรรมสร้างสรรค์ที่มีพื้นที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ 4 จังหวัดรอบเขาใหญ่ ประกอบไปด้วย กลุ่มไม้ขีดไฟ, กลุ่มรักษ์เขาใหญ่, กลุ่มใบไม้, กลุ่มต้นกล้า และ กลุ่มลูกมะปราง โดยมี มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) และ สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้การสนับสนุน จึงได้รวมตัวกันจัดกิจกรรม “เขาใหญ่วิทยา” ขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงต้นฤดูร้อน เพื่อบอกเล่าเรื่องราวการทำงานของเครือข่ายผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ เชิงสัญลักษณ์ เพื่อสร้างความรู้คู่ความตระหนักให้เกิดความรักและหวงแหนในธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ไปพร้อมกับการขยายเครือข่ายการรับรู้ และความร่วมมือในการขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชน ควบคู่ไปกับการขยายพื้นที่เรียนรู้ในพื้นที่ 4 จังหวัดรอบๆ เขาใหญ่ออกไปในวงกว้างมากยิ่งขึ้น

“พี่กุ๋ย” ศรัทธา ปลื้มสูงเนิน จาก “กลุ่มไม้ขีดไฟ”

พวกเราต้องการทำให้เขาใหญ่เป็นพื้นที่สร้างกิจกรรมเรียนรู้แบบ learning by doing โดยมีจุดมุ่งหมายคือสร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม  และใช้เรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นเครื่องมือการพัฒนาเด็กและเยาวชนในมิติต่างๆ ตามความถนัดของแต่ละเครือข่าย ที่ผ่านมาในสังคมเราขาดพื้นที่สร้างสรรค์ให้กับเด็ก ไม่มีพื้นที่ให้เขาได้แสดงออก เราที่เป็นผู้ใหญ่จึงต้องหาพื้นที่ให้เด็กๆ เพื่อฝึกให้ได้มีโอกาสเรียนรู้และเอาตัวรอดจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่อยู่รายรอบตัว ฝึกให้เด็กคิดเป็นทำเป็นแก้ปัญหาเป็น  เขาใหญ่วิทยาจึงมีกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อไม่ให้การเรียนรู้ต้องอยู่ในห้องเรียนเสมอไป “พี่กุ๋ย” ศรัทธา ปลื้มสูงเนิน จาก “กลุ่มไม้ขีดไฟ” ผู้ขับเคลื่อนด้านการส่งเสริมกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้เพื่อเด็กและครอบครัว ในพื้นที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา หนึ่งในแกนนำในการจัดกิจกรรมเขาใหญ่วิทยาอธิบาย

ก่อนจะมาเป็นเขาใหญ่วิทยา กลุ่มไม้ขีดไฟ กลุ่มต้นกล้า กลุ่มรักษ์เขาใหญ่ และกลุ่มใบไม้ ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม เขาใหญ่ดีจังคราฟท์ ที่สร้างการเรียนรู้และจิตสำนึกผ่านการทำงานงานฝีมือ เพื่อเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อม สร้างแรงบันดาลใจไปสู่พื้นที่จริง โดยเริ่มตั้งแต่จุดเล็กๆ ใน พ.ศ. 2550 คือ การไม่ทิ้งขยะในอุทยานแห่งชาติ การรณรงค์ไม่ให้อาหารลิง การแต่งกาย Mascot (มาสคอต) และวาดรูปสัตว์บนพื้นถนนเพื่อรณรงค์ไม่ให้ขับรถเร็วในพื้นที่ของอุทยานฯ  ต่อมาได้ขยายความร่วมมือในการทำงานเป็นเครือข่ายร่วมกับภาคเอกชนอีกหลายกลุ่มที่มีพื้นที่ทำงานรอบเขาใหญ่ จนเกิดเป็นกิจกรรมการ “รณรงค์สี่มอขอไม่มาก” (ไม่ทิ้งขยะ ไม่ให้อาหารสัตว์ ไม่ขับรถเร็ว และไม่ส่งเสียงดัง) จนเครือข่ายเขาใหญ่ดีจังเป็นที่รู้จัก ได้รับความสนใจและร่วมมือจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก

หลังว่างเว้นการจัดกิจกรรมไปเพราะสถานการณ์โควิด-19 ในปีนี้ “เครือข่ายเขาใหญ่ดีจัง” จึงได้กลับมารวมตัวกันจัดงาน “เขาใหญ่วิทยา” อีกครั้ง โดยกลุ่มต้นกล้าชักชวนเด็กๆ มาร่วมทำงานคราฟท์ด้วยการทำ “หน้ากากเสือ” ซึ่งเด็กๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับหน้ากากเสือที่ตนทำเอง พร้อมกับชักชวนเด็กและผู้ปกครองเข้าร่วมกิจกรรม “ห้องเรียนสื่อความหมายธรรมชาติ” ที่เป็นการเรียนรู้ธรรมชาติจากการเดินป่าจริงๆ ไม่น่าเชื่อว่าเรื่องราวและการเรียนรู้ระหว่างเส้นทางเดินป่าไปยังน้ำตกกองแก้ว หรือหอดูสัตว์หนองผักชีนั้นจะสามารถดึงดูดความสนใจจากเด็กๆ ได้นานนับชั่วโมง

“เก่ง” โชคนิธิ คงชุ่ม แกนนำ “กลุ่มใบไม้”

เก่งโชคนิธิ คงชุ่ม แกนนำ “กลุ่มใบไม้” จาก อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก ที่ขับเคลื่อนเรื่องการพัฒนาเด็กและเยาวชนโดยนำต้นทุนทางธรรมชาติในพื้นที่เขาใหญ่ มาเป็นเครื่องมือในการเปิดพื้นที่เรียนรู้อย่างสร้างสรรค์กล่าวว่า เขาใหญ่วิทยาเป็นกิจกรรมที่ทางเครือข่ายเขาใหญ่ดีจังต้องการรณรงค์ให้เกิดการเรียนรู้ที่มากไปกว่ามาแค่การได้มาเที่ยวบนเขาใหญ่เฉยๆ

“เครือข่ายเขาใหญ่ดีจังเข้ามาช่วยออกแบบเส้นทางเดินป่าและพัฒนาเครื่องมือเพื่อให้เด็กและครอบครัวสามารถเกิดการเรียนรู้ในเรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีความรู้มาก่อน มีการจัดทำแผนที่ทางเดินสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ กำหนดบทบาทและกิจกรรมในแต่ละจุดที่แตกต่างกันระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันผ่านการตั้งคำถาม และมาหาคำตอบอีกครั้งที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว กิจกรรมนี้ทำให้เกิดความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ดียิ่งขึ้น และยังใช้เส้นทางเหล่านี้ในการฝึกอาสาสมัครจากเครือข่ายเขาใหญ่ดีจัง ทำให้ได้คนรุ่นใหม่ๆ มาทำงานในพื้นที่ต่อเนื่อง” เก่งกล่าว

และในปีนี้ห้องเรียนกลางแจ้งของเขาใหญ่วิทยา ยังเกิดเครือข่ายใหม่ๆ เข้ามาร่วมกันขับเคลื่อนงานพัฒนาเด็กและเยาวชน ด้วยการเปิดพื้นที่เรียนรู้ในมิติใหม่ๆ มากขึ้น อาทิ “กลุ่มเส้นตอก” จาก ตำบลดงบัง อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเป็นชุมชนปลูกไผ่และประสบความสำเร็จจากวิสาหกิจชุมชนจึงขยายผลมาทำศูนย์เรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชน โดยใช้ไม้ไผ่ สบู่ถ่านไม้ไผ่ และพวงกุญแจไม้ไผ่ เป็นเครื่องมือดึงดูดความสนใจให้ออกไปสัมผัสเยี่ยมชมของจริงในพื้นที่

“แม่อุ๊” อุมาพร พิมพ์ทอง และ น้องข้าวฟ่าง

จากฐานเดิมที่ทำวิสาหกิจชุมชน การมาร่วมงานเขาใหญ่วิทยาในครั้งนี้เราได้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้ปกครองเด็กและเยาวชนทางด้านกิจกรรมต่างๆ ที่อยากให้มีในศูนย์เรียนรู้ ทำให้เราเห็นทิศทางในการจัดศูนย์เรียนรู้เพื่อเด็กและเยาวชนมากขึ้น “แม่อุ๊” อุมาพร พิมพ์ทอง ที่มาพร้อมกับผู้ช่วยซึ่งเป็นลูกสาว “น้องข้าวฟ่าง” เล่าถึงประโยชน์ในการมาร่วมเป็นเครือข่ายในครั้งนี้

การมาร่วมงานครั้งนี้ทำให้เรารู้จักเครือข่ายมากขึ้น มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานและการร่วมมือในการทำกิจกรรมมากขึ้น “ลูกตาล” พรชนก ค่ายสงคราม ทีมงานกลุ่มเส้นตอกกล่าวเสริม

รวมไปถึงอีกหนึ่งเครือข่ายใหม่ที่ใช้เสียงโป๊กๆ จากการใช้ค้อนตอกลงไปบนถุงผ้าที่ใส่ใบไม้หลากสีหลายแบบเข้าไปเรียกร้องความสนใจจากนักท่องเที่ยวให้เข้ามาร่วมกิจกรรม และเมื่อเดินมาใกล้ก็จะเห็นว่าใบไม้ที่โดนค้อนตอกนั้นเกิดเป็นสีสันและรูปร่างขึ้นมาบนถุงผ้า นี่คือกิจกรรมที่เรียกว่า “Eco Print” ของ “กลุ่มปั้นดิน” จาก อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก ที่ทำงานขับเคลื่อนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและกระบวนการคิดให้แก่เด็กในชุมชนแออัด โดยใช้กิจกรรมห้องเรียนธรรมชาติที่ได้รับความร่วมมือจากกลุ่มเครือข่ายเขาใหญ่ดีจังไปใช้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กในชุมชนแออัดไปในทางบวก

 “ใบพลู” ดุสิตา งามเฉลียว

 “เมื่อเด็กๆ ได้มาทำอีโค่ปรินท์ ทำให้เขาตั้งใจ เป็น Self-control ที่จะต้องมีความตั้งใจในการทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้สำเร็จ และการใช้ค้อนค่อยๆ ตอกลงไปบนผ้ายังเป็นการพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก ซึ่งกลไกสำคัญที่ทำให้ช่วยเด็กมีประสิทธิภาพในการเรียนรู้ได้ดีขึ้น “ใบพลู” ดุสิตา งามเฉลียว นักศึกษาทางด้านจิตวิทยา ที่ได้สะท้อนให้เห็นว่ากิจกรรมอีโค่ปรินท์นอกจากจะช่วยสร้างจิตสำนึกทางสิ่งแวดล้อมพร้อมกับได้กระเป๋าผ้าสวยๆ ไปใช้เพื่อช่วยลดขยะ แล้ว กิจกรรมนี้ยังมีประโยชน์ทางด้านพัฒนาบุคคล ด้านจิตสำนึกและการใช้ชีวิตร่วมกัน

“ลุงปู” ฤทธิ์ บินอับดุลเลาะห์

ซึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากความร่วมมือที่นำโดยพี่ใหญ่ของเครือข่ายเขาใหญ่ดีจัง “ลุงปู” ฤทธิ์ บินอับดุลเลาะห์ นักสื่อความหมายธรรมชาติของ “กลุ่มต้นกล้า” ที่นำทีมพาเด็กจากชุมชนแออัดของกลุ่มปั้นดินไปดูนกและศึกษาธรรมชาติ ด้วยความร่วมมือทางด้านจิตวิทยาของกลุ่มปั้นดินกับการใช้ธรรมชาติกล่อมเกลาจิตใจ ส่งผลให้เด็กจากชุมชนลดความก้าวร้าวลงได้อย่างชัดเจน

“หลังจากได้ทำกิจกรรมร่วมกันสังเกตเห็นได้ว่าพวกเขามีความเปลี่ยนแปลงคือ มีบุคลิกภาพในทางที่ดีขึ้น ลดความรุนแรงก้าวร้าวลงได้อย่างชัดเจน นั่นคือความน่าพอใจอย่างยิ่งที่เครือข่ายของเราทำให้เด็กเหล่านี้ได้เรียนรู้ ปรับพฤติกรรม เปลี่ยนความคิด และเชื่อมั่นว่าเขาจะมีพฤติกรรมต่างๆ ที่ดีขึ้นแม้จะต้องกลับไปใช้ชีวิตอยู่ในสังคมเดิม”

ลุงปูอธิบายถึงความสำเร็จในการทำงานร่วมกันของเครือข่าย

ซึ่งความสำเร็จของการจัดกิจกรรม “เขาใหญ่วิทยา” ของ “เครือข่ายเขาใหญ่ดีจัง” นั้นอาจไม่ได้หมายถึงเพียงจำนวนผู้เข้าร่วมหรือความหลากหลายของกิจกรรม แต่ที่มากกว่านั้นก็คือพลังและความร่วมมือของเครือข่ายที่จะช่วยกันขับเคลื่อนสร้างพื้นที่เรียนรู้ในมิติต่างๆ กันไปตามความถนัดและศักยภาพของตนเองให้กับชุมชนและพื้นที่โดยรอบ เป็นการเติมเต็มซึ่งกันและกันของแต่ละเครือข่าย

“จากการทำงานอย่างต่อเนื่องทำให้เรามีเครือข่ายเพิ่มขึ้น และมีการทำงานที่หลากหลายมิติมากยิ่งขึ้น มีการประสานงานระหว่างเครือข่ายเพื่อพัฒนาโครงการต่างๆ ร่วมกัน รวมไปถึงมีการแลกเปลี่ยนพื้นที่เรียนรู้ของแต่ละเครือข่ายในการจัดกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเครือข่ายเขาใหญ่ดีจังทุกคนล้วนมีเป้าหมายร่วมกันคือ การสร้างพื้นที่เรียนรู้ให้มากขึ้น และทำให้คนทั่วไปรู้จักและมาใช้พื้นที่เรียนรู้ของกลุ่มต่างๆ มากขึ้น”  

“เก่ง” โชคนิธิ คงชุ่ม กล่าวสรุป.

เยาวชนคน “แก่นมะกรูด” รวมพลังเปิด “ครัวกะเหรี่ยงเชอยิเก่อ” ใช้ “อาหาร” สื่อสาร – สืบสานภูมิปัญญา สร้างสรรค์เศรษฐกิจชุมชน

เมื่อสิ่งที่เรียกว่า “ความเจริญ” ได้เดินทางเข้ามาถึงชุมชนกะเหรี่ยงโผล่วของตำบลแก่นมะกรูด อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี  ทั้ง งูใหญ่(ถนน)  ม้ามีเขา(มอเตอร์ไซค์) เสาออกดอกกลางบ้าน(เสาไฟฟ้า) และคนเสียงดังมาเรียกข้างบ้าน(รถกับข้าว) ทำให้วิถีชีวิตที่เคยพึ่งพาและผูกพันแนบแน่นอยู่กับธรรมชาติ กำลังถูกกระแสของโลกทุนนิยมสมัยใหม่กลืนกิน

พืชเชิงเดี่ยวเข้ามาแทนที่ข้าวไร่ พืชพันธุ์ต่างๆ ในธรรมชาติล้มหายตายจากไปด้วยผลกระทบของปุ๋ยและยา อาหารพื้นบ้านถูกแทนที่ด้วยแกงถุงสำเร็จรูปของคนเมือง การพึ่งพาตนเองหายไป ทุกอย่างในชีวิตต้องแลกมาด้วยการซื้อ ภูมิปัญญาดั้งเดิมอันทรงคุณค่าของบรรพบุรุษกำลังจะเลือนหาย

รุ่งฤดี สุทรหลวง “อ้อย” กับ เมนูเชอยิเก่อ

คนหนุ่มสาวชาวแก่นมะกรูดรุ่นใหม่นำโดย “รุ่งฤดี สุทรหลวง” หรือ “อ้อย” จึงได้รวมพลังผองเพื่อนลุกขึ้นมาหยุดยั้งในสิ่งที่คนโบราณทำนายไว้ว่ามันจะเป็น “หายนะ” สำหรับชุมชนของพวกเขา  ด้วยการเปิด “ครัวกะเหรี่ยงเชอยิเก่อ” นำภูมิปัญญาอาหารพื้นบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ มาสร้างจุดขาย พร้อมกับยกระดับให้พื้นที่แห่งนี้เป็นหมุดหมายใหม่ให้กับนักเดินทางที่ต้องการเข้าให้ “ถึงแก่น” มากกว่าแค่ มาถึงยังแก่นมะกรูด ดินแดนที่ถูกขนานนามว่ามีอากาศหนาวที่สุดของภาคกลาง

โดยที่มาของ “ครัวกะเหรี่ยงเชอยิเก่อ” นั้นเกิดขึ้นจากการที่ “อ้อย” และเพื่อนๆ ตั้งคำถามว่า อาหารต่างๆ ที่พวกเขาเคยกินในวัยเด็กนั้นหายไปไหน? นำมาสู่การสืบค้นและรวบรวมเมนูอาหารต่างๆ และค้นหาผู้ที่ยังทำอาหารเหล่านั้นได้ จากนั้นก็ชักชวนเพื่อนๆ เข้าไปเรียนรู้ขั้นตอนและวิธีการทำอาหารแต่ละชนิด เพื่อให้ทั้งคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ได้กลับมาทานอาหารพื้นบ้านอีกครั้ง

“วัตถุดิบในอาหารพื้นบ้านกะเหรี่ยงแต่ละชนิดจะเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตในแต่ฤดูกาล ถ้าเราไม่ปลูกข้าวไร่ เราก็จะไม่ได้กินเมนูข้าวใหม่ ถ้าเราปลูกข้าวโพดและใช้ยาฆ่าหญ้าเราก็จะปลูกพริกกะเหรี่ยงไม่ได้ เมื่อครัวกะเหรี่ยงฯ เป็นที่รู้จักของนักเดินทางมากขึ้น ชาวบ้านก็จะมีรายได้จากการขายวัตถุดิบต่างๆ ให้กับครัวของเรา ซึ่งพอถึงจุดนั้นเชื่อมั่นว่าคนในชุมชนจะเห็นคุณค่าของภูมิปัญญาและวัฒนธรรมอาหารของตนเองว่า อาหารกะเหรี่ยงสามารถเป็นจุดขายได้ ซึ่งจะนำไปสู่การการปรับวิธีการทำการเกษตร ลดการใช้ปุ๋ยยา และหันมาปลูกพืชผักไว้ทานเองเหมือนในอดีต” น้องอ้อยเล่าถึงความตั้งใจ

หากย้อนไปในช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 คนในชุมชนแห่งนี้ก็ได้รับผลกระทบจากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป เมื่อไม่มีของเข้ามาขาย พวกเขาจึงเริ่มตระหนักถึงภูมิปัญญาและการพึ่งพาตนเองแบบวิถีดั้งเดิม ซึ่ง “อ้อย” และเพื่อนๆ ก็ได้ใช้ “วิกฤติ” ที่เกิดขึ้นเป็น “โอกาส” ในการชักชวนชาวบ้านให้เข้ามาร่วมขับเคลื่อนและฟื้นฟูวิถีชีวิตความเป็นกะเหรี่ยงโผล่วให้กลับคืนสู่ชุมชน โดยใช้การเปิดครัวกะเหรี่ยงเชอยิเก่อในช่วงเทศกาลท่องเที่ยว เป็นจุดเริ่มต้นในการทำภาพฝันของพวกเขาให้เป็นจริง

“อาหารพื้นบ้านของเราจะเน้นกินอาหารเป็นยา โดยเมนูที่เราภูมิใจนำเสนอได้แก่ เชอยิเก่อ หรือแกงปลาสับใส่ข้าวคั่ว  แกงข้าวเบือใส่หมู แกงข้าวคั่วไก่ ต้มปลาใส่มะตาดและมะกรูด น้ำพริกปู น้ำพริกมะเขือส้ม น้ำพริกปลาดุก แกงหยวกกล้วยใส่ไก่ แกงยอดมะระขี้นกใส่หมู ซึ่งเป็นเมนูอาหารที่เราอยากจะสื่อสารกับคนภายนอกว่า แก่นมะกรูดของเรานั้นมีทรัพยากรธรรมชาติที่ดีมากมาย”

น้องอ้อยระบุ
สิริวรรณ ศรีเพ็ญจันทร์ (ป้าโก้)

ซึ่ง “ครัวกะเหรี่ยงเชอยิเก่อ” เป็นดอกและผลของการทำงานอย่างทุ่มเทเพื่อขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนากับเด็กและเยาวชนในของ “สิริวรรณ ศรีเพ็ญจันทร์” หรือ “ป้าโก้” หัวแรงหลักสำคัญของ “บ้านไร่อุทัยยิ้ม” หนึ่งในภาคีเครือข่ายขับเคลื่อน พื้นที่เรียนรู้ หรือ Learning space ของ สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่นำเอาต้นทุนในด้านต่างๆ ของแต่ชาวอำเภอบ้านไร่ มาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนในพื้นที่มานานกว่า 15 ปี

เริ่มจากการทำบ้านดินเพื่อเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้กับเด็กและเยาวชนได้มีพื้นที่ปลอดภัยที่เป็นของตนเองในการทำกิจกรรมต่างๆ จนได้รับการยอมรับจากชุมชน การฟื้นตำนาน “ป่าหมากล้านต้น”  ที่เด็กๆ ได้ช่วยกันสืบค้นและฟื้นฟู สร้างกระบวนการเรียนรู้ควบคู่ไปกับการทำงานร่วมกับชุมชนจนพัฒนาไปเป็น “ต้นไม้ยักษ์” สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดัง ที่บอกเล่าถึงวิถีชีวิตของชุมชนที่ผูกโยงอยู่กับธรรมชาติ พร้อมยังหยิบยกเอาวัฒนธรรมอาหารที่หลากหลายของ 3 เชื้อชาติในพื้นทั้ง ลาว ขมุ และกะเหรี่ยง มาจัดเป็นกิจกรรม “อาหารแห่งชาติพันธุ์” เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของชุมชนจนได้รับรางวัลระดับประเทศ ซึ่งทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นจากทำงานของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ๆ เชื่อมโยงองค์ความรู้ที่พวกเขาได้รับ กลับไปสู่การสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน จนทำให้อำเภอบ้านไร่เป็นที่รู้จักของนักเดินทางทั่วทุกสารทิศ

ครัวกะเหรี่ยงเชอยิเก่อ

“ครัวกะเหรี่ยงเชอยิเก่อจะสร้างให้เกิดเป็นเครือข่ายของคนในชุมชน โดยใช้วัตถุดิบจากชุมชนเป็นหลัก ชาวบ้านได้ขายพืชพรรณธัญญาหารตามฤดูกาล สามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้จากวัตถุดิบที่มีอยู่ตามธรรมชาติและที่เพาะปลูกตามวิถีดั้งเดิม และตรงนี้ยังจะเป็นพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กๆ ในชุมชน โดยทุกวันเสาร์จะมีกิจกรรมให้ชาวบ้านได้นำผลผลิต ผลิตภัณฑ์ สินค้าต่างๆ  หรือขนมพื้นบ้านมาวางขาย ซึ่งคำว่าเชอยิเก่อมาจากอาหารโบราณของชาวกะเหรี่ยงที่เรียกว่าแกงสับรวมปลากับสมุนไพร จึงเป็นเสมือนการสร้างสิ่งใหม่ๆ ครัวกะเหรี่ยงจึงเป็นพื้นที่เล่าเรื่องของชุมชนโดยคนรุ่นใหม่” ป้าโก้ระบุ

ไกล้รุ่ง บุญเกิด “เฉาก๊วย”

“อาหารกะเหรี่ยงเป็นอาหารที่ไม่ต้องเสียเงินซื้อ มีรสชาติและความอร่อยที่มีเอกลักษณ์แตกต่างกันไปตามฤดูกาล เป็นอาหารที่ปลอดภัยจากสารเคมีเพราะวัตถุดิบต่างๆ นั้นเก็บหาได้มาจากธรรมชาติจริงๆ” “ไกล้รุ่ง บุญเกิด” หรือ “เฉาก๊วย” แกนนำเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์ เล่าถึงข้อดีของอาหารพื้นบ้าน

ตำบอนหวาน

ซึ่งการเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่อย่าง “อ้อย” และเพื่อนๆ ได้ทดลองทำในสิ่งที่คิดและฝันด้วยการผลักดัน “อาหารพื้นบ้านกะเหรี่ยง” ให้เป็นที่รู้จักของคนภายนอกนั้น “ป้าโก้” กล่าวว่าเป็นผลลัพธ์จากการขับเคลื่อนในเรื่องของพื้นที่เรียนรู้ ที่เกิดขึ้นจากความเข้าใจถึงแก่นของสิ่งนั้นๆ ผ่านการลงมือทำเพื่อให้รู้ว่าผิดหรือถูก ใช่หรือไม่ใช่ โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการที่เด็กและเยาวชนเหล่านี้ต่างก็รู้จัก รัก และภาคภูมิใจในตัวตนของตนเอง แล้วนำเอาต้นทุนของชุมชนมาต่อยอดไปสู่การสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับเด็กๆ รุ่นต่อไป รวมไปถึงชุมชนบ้านเกิดของพวกเขา

ซึ่งเป้าหมายและผลลัพธ์ของการทำงานเพื่อขับเคลื่อนพื้นที่เรียนรู้เพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนของบ้านไร่อุทัยยิ้มนั้นคือคำว่า “ความสุข” ซึ่งฟังดูแล้วอาจเป็นนามธรรม แต่ “ป้าโก้” ก็ยังกล่าวย้ำว่า

“คำว่าอยู่เย็นเป็นสุขคือภาพฝันที่เราอยากเห็น อยากเห็นผู้คนในชุมชนยิ้มให้กันอย่างมีความสุข มีวิถีชีวิตที่เกื้อกูลกัน แต่โจทย์ที่ยากกว่านั้นคือทำอย่างไรให้เด็กๆ เหล่านี้ยังคงความเป็นวิถีชีวิตแบบนั้นได้ ทำอย่างไรที่จะให้เด็กๆ นำความรู้ที่ได้รับจากโลกภายนอกกลับมาพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง โดยพวกเขาต้องอยู่รอดได้ อยู่ร่วมได้ และต้องอยู่อย่างมีเป้าหมายในชีวิต”  ป้าโก้กล่าวถึงเป้าหมายที่ฝันถึง

วันนี้ “เชอยิเก่อ” จึงไม่ได้เป็นแค่ชื่อสำรับอาหารภายในบ้าน แต่เป็นการนำพาวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของชาวกะเหรี่ยงโผล่วที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตและธรรมชาติ ออกไปสู่ภายนอก พร้อมกับปักหมุดหมายใหม่ เปลี่ยนกระแสของการท่องเที่ยวแบบมา เช็ค-แชะ และจากไป ให้แก่นมะกรูดกลายเป็นพื้นที่ๆ มีความรุ่มรวยทางด้านวัฒนธรรมโดยนำ “อาหาร” มาเป็นเครื่องมือในการเปิดประตูเข้าไปสู่การเรียนรู้ในมิติอื่นๆ ของพื้นที่แห่งนี้ได้อย่างลงตัว

แกงยอดมะระขี้นกใส่หมู

“เมื่อมาเที่ยวแก่นมะกรูด อย่าลืมแวะมาที่ครัวกะเหรี่ยงของเรา ทุกๆ วันเสาร์จะมีอาหารพื้นบ้านที่แตกต่างกันตามฤดูกาลให้ได้ชิม มีสินค้าและผลิตภัณฑ์จากชุมชนต่างๆ และมีกิจกรรมดีๆ อีกมากมาย ทั้งการสุม(อบ)ยาสมุนไพรหรือการพอกตาด้วยสมุนไพรพื้นบ้านเพื่อผ่อนคลายความเมื่อยล้าจากการเพ่งหน้าจอมือถือนานๆ”

น้องเฉาก๊วยเชิญชวนทิ้งท้าย

พลังเยาวชน สื่อสาร – สืบสาน – สร้างสรรค์ “คลิตี้ล่าง…ดีจัง” พลังเยาวชน สื่อสาร-สืบสาน-สร้างสรรค์ “คลิตี้ล่าง…ดีจัง”

แม้การต่อสู้เรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจะจบลงด้วยชัยชนะ การฟื้นฟูเยียวยาอยู่ในกระบวนการเริ่มต้น แต่บทเรียนจากปัญหาที่เกิดขึ้นมายาวนานกว่า 20 ปีได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นการทำงานของเยาวชนกลุ่มหนึ่ง เพื่อร่วมกันอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมสืบสานวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของชุมชนชาวกะเหรี่ยงแห่งผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวร

จากเดิมที่เมื่อพูดถึง “หมู่บ้านคลิตี้ล่าง” ก็จะหมายถึงชุมชนที่มีปัญหามลพิษจากการทำเหมืองแร่ แต่ในวันนี้เด็กๆ ที่เกิดและเติบโตมาพร้อมกับปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชน ได้ลุกขึ้นมารวมตัวกัน นำบทเรียนในอดีตมาสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อสืบสานตำนานการต่อสู้ ควบคู่ไปกับนำภูมิปัญญาของบรรพบุรุษมาต่อยอดเป็น “พื้นที่เรียนรู้” เพื่อสร้างความภาคภูมิใจในชนชาติพันธุ์ให้กับเด็กรุ่นใหม่

ลำห้วยคลิตี้

เพราะหัวใจสำคัญที่จะทำให้เด็กๆ ในชุมชนที่กำลังจะเติบโตขึ้นมานั้นจะสามารถ “อยู่ร่วม” กับคนอื่นๆ ในสังคม และสามารถ “อยู่รอด” ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้นั้นก็คือ “ความมั่นใจ” และ “ความภาคภูมิใจ” ในตัวตนของตนเอง

ชลาลัย นาสวนสุวรรณ

“ที่ผ่านมาเรื่องราวของคลิตี้ล่างที่ถูกนำเสนอออกไปมีแต่เรื่องของปัญหา ทั้งลำห้วยปนเปื้อนสารตะกั่ว ปัญหาคุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจของชุมชน พวกเราจึงเกิดคำถามว่า ทำไมเราจึงไม่เคยเห็นภาพชุมชนของเราถูกสื่อสารออกไปในทางที่ดีเลย แล้วเมื่อมันไม่ดี แต่ทำไมชาวคลิตี้ล่างก็ยังอยู่ที่นี่ ทำไมถึงไม่ย้ายออกไปข้างนอก คลิตี้ล่างมันมีดีอะไร”  ชลาลัย นาสวนสุวรรณ หรือ “น้ำ” แกนนำและผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนคลิตี้ล่างดีจัง เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการทำงาน

พวกเขารวมตัวกันในชื่อ “คลิตี้ล่างดีจัง” ซึ่งเป็นหนึ่งในเครือข่ายพื้นที่ดีจัง ที่ขับเคลื่อนโดย แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน(สสย.) โดยการสนับสนุนของ สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก4) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เพื่อร่วมกันสื่อสารเรื่องราวดีๆ สิ่งที่มีคุณค่าของชุมชนออกไปสู่ภายนอก โดยนำเสนอผ่านประเพณี วิถีชีวิต ภูมิปัญญาอาหารพื้นบ้าน การทอผ้า การจักสาน และการเรียนรู้ในเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเปิดพื้นที่ให้เด็กๆ ในชุมชนได้ทำกิจกรรมต่างๆ อย่างสร้างสรรค์

เพื่อร่วมกันลบภาพจำเก่าๆ ให้ “คลิตี้ล่าง” กลายเป็นภาพของชุมชนที่มีวิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณีที่มีเอกลักษณ์ และมีความผูกพันพึ่งพาอาศัยกันระหว่างชุมชนกับผืนป่าพร้อมกับร่วมกันเปลี่ยนชุมชนแห่งนี้ให้เป็น “พื้นที่เรียนรู้” ที่เปิดกว้างสำหรับคนทุกเพศวัย

ของกินมีมากมายในลำห้วย

“เราเชื่อว่าทุกตารางนิ้วของคลิตี้ล่างคือพื้นที่เรียนรู้ บ้านก็เป็นพื้นที่เรียนรู้ เรื่องของความเชื่อและฮวงจุ้ย เตากลางบ้านก็เป็นพื้นที่เรียนรู้ ซึ่งเด็กรุ่นใหม่อาจจะยังไม่เข้าใจ แม้กระทั่งการทำไร่ จะมี 2 แบบทั้งการปลูกพืชเศรษฐกิจ และการทำไร่หมุนเวียน เส้นทางเดินไปไร่ก็เป็นพื้นที่เรียนรู้ได้ เพราะระหว่างทางเราจะชอบเก็บผักเพื่อนำไปทำอาหาร ในชุมชนมีน้ำตก เด็กๆ ก็จะเล่นน้ำ ซึ่งก็เป็นพื้นที่เรียนรู้ของเขา การจับกุ้ง จับปลาในน้ำ ก็ถือว่าเป็นพื้นที่เรียนรู้ของเขาเหมือนกัน เพราะฉะนั้นทุกพื้นที่ของคลิตี้ล่างจึงเป็นพื้นที่เรียนรู้ทั้งของคนในชุมชนและคนภายนอก”  น้ำอธิบาย

เมื่อทุกพื้นของคลิตี้ล่างที่คือพื้นที่เรียนรู้ คำถามต่อมาก็คือ แล้วทำไมเด็กๆ ในชุมชนต้องเรียนรู้ ในเมื่อสิ่งเหล่านั้นคือวิถีชีวิตอยู่แล้ว  ซึ่งในประเด็นนี้มีคำอธิบายจาก “น้ำ” ไว้น่าสนใจว่า

“ก็เพราะว่ามันเป็นวิถีชีวิตของเรา เราจึงไม่ใส่ใจและละเลย ดังนั้นการที่จะเล่าเรื่องของตัวเองได้ จึงต้องทบทวนว่าวิถีชีวิตของเราคืออะไร เพราะไม่ใช่แค่คนนอกที่จะเข้ามาเรียนรู้ เราเองก็ต้องเรียนรู้ตัวเองด้วย เราจึงทำกิจกรรมกับเด็กๆ พยายามให้เขาได้เรียนรู้ทั้งในอดีตและปัจจุบัน เพื่อสร้างให้เกิดการพัฒนาแบบร่วมสมัย ให้คนรุ่นใหม่สนใจรักษาต่อ ส่วนคนรุ่นเก่าก็ยังได้เห็นของดีที่มีอยู่ในชุมชน สิ่งสำคัญคือกระบวนการที่จัดการกับสิ่งที่มีอยู่ให้เกิดเป็นองค์ความรู้ และเกิดกระบวนการเรียนรู้ เช่น เทศกาลช่วงเดือนพฤศจิกายน เป็นฤดูเกี่ยวข้าว  เราก็จะชวนเด็กๆ มาเกี่ยวข้าว มาเรียนรู้ถึงความยากลำบากกว่าที่จะได้ข้าว แล้วให้เขาได้สื่อสารเรื่องราวเหล่านี้ออกไปในโซเซียลต่างๆ ด้วย”

ซึ่งการเปิดและเปลี่ยนชุมชนแห่งนี้ให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ในชื่อ “คลิตี้ล่างดีจัง” นั้น ไม่ได้หมายความเพียงแค่ให้คนอื่นๆ ได้เข้ามาเรียนรู้ในวิถีชีวิตของพวกเขาเท่านั้น ในขณะเดียวกันเด็กและเยาวชน รวมไปถึงคนอื่นๆ ในชุมชนยังได้เรียนรู้เรื่องราวมากมายจากผู้คนที่เข้าในพื้นที่ไปพร้อมๆ กัน และยังเป็นช่องทางเชื่อมโยงเปิดรับโอกาสดีๆ จากภายนอกเข้ามาหาเด็กและเยาวชน ช่วยเปิดโลกแห่งการเรียนรู้ให้กับผู้สูงอายุและคนในชุมชน ให้เกิดความรู้และความเข้าใจใหม่ๆ ในการอยู่ร่วมในสังคมที่แตกต่างหลากหลายได้อย่างมีความรู้สึกภาคภูมิใจและเท่าเทียม

“อย่างเช่นเรื่องอาชีพ เด็กๆที่นี่ส่วนใหญ่จะรู้เฉพาะอาชีพครู ทหาร ตำรวจ หมอ พยาบาล แค่นั้น เมื่อมีอาชีพอื่นเข้ามาก็ทำให้เด็กๆ ตื่นเต้นและสนใจอยากรู้ว่านี่คืออาชีพอะไร และเรียนรู้ที่จะถามถึงอาชีพต่างๆ มากกว่าที่เขารู้จัก สำหรับเด็กๆ แต่เดิมเขาจะรู้สึกว่าตัวเองมีปมด้อยในการเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ แต่เมื่อได้ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับคนภายนอกมากขึ้น เขาก็มีความภาคภูมิใจกล้าที่จะบอกว่าตัวเองเป็นใครมาจากไหน เมื่อมีความมั่นใจ สิ่งที่ตามมาก็คือการมีความคิดนอกกรอบมากขึ้น เด็กๆ เริ่มมีความคิดที่จะต่อยอด เช่นการนำผ้าทอไปผลิตเป็นกระเป๋าสตางค์ กิ๊ปช้อป หรือของใช้เล็กๆ น้อยๆ  แทนที่จะทำแค่เสื้อกับกระเป๋าซึ่งขายได้ยากกว่า รวมไปถึงการต่อยอดภูมิปัญญาด้านสมุนไพร ด้วยการผลิตชาใบเตย ชาตะไคร้ หรือชาดอกกุหลาบ ในแบรนด์ของชุมชนเอง”  น้ำระบุถึงความเปลี่ยนแปลง

วิมลรัตน์ ทองผาภูมิปฐวี กับผักกูดที่เก็บได้

วิมลรัตน์ ทองผาภูมิปฐวี หรือ “วิ” หนึ่งในแกนนำเยาวชนเล่าว่า ถ้าไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมที่จัดขึ้นในปี 2557 ก็คงไม่รู้ว่าปัญหาของหมู่บ้านนั้นมีอะไรบ้าง เพราะเด็กส่วนใหญ่จะถูกส่งออกไปเรียนข้างนอกทั้งหมดจึงแทบไม่รู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นกับบ้านเกิดของตนเอง แต่เมื่อได้ทำกิจกรรมหลายๆ ครั้งเข้า ก็ได้เรียนรู้เรื่องราวของชุมชนในหลายๆ ด้าน รู้ว่าทำไมในไร่ต้องปลูกดอกไม้อย่างดาวเรือง หงอนไก่ บานเย็น ก็เพื่อไล่แมลง ได้เรียนรู้ทำไมผ้าทอจึงได้มีราคาแพงเพราะทำได้ยากทั้งละเอียดและประณีต ใช้เวลากว่าที่จะได้ผ้าแต่ละผืนนานเกือบ 3 เดือน

“คลิตี้ล่างของเรามีวิถีความเป็นอยู่ที่ดี  ดีตรงที่ได้อยู่กับธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์สมบูรณ์ มีวัฒนธรรมและประเพณีต่างๆ ที่มีคุณค่า มีอาหารพื้นบ้านมากมายตามฤดูกาลที่สามารถหาได้จากริมห้วยและในป่าโดยไม่ต้องซื้อ อย่างหน้าหนาวก็มีแกงคั่วแตงเปรี้ยว หน้าฝนก็หน่อไม้ เห็ดโคน หน้าแล้งก็มีเผือก มัน และผักต่างๆ ริมลำห้วย”  วิเล่าถึงบ้านเกิดของเขาอย่างภูมิใจ

จารุวรรณ สุขเจริญประเสริฐ

จารุวรรณ สุขเจริญประเสริฐ หรือ “วรรณ” แกนนำรุ่นใหม่อีกคนเล่าว่า ถึงแม้จะเรียนจบจากข้างนอก แต่ก็ตัดสินใจกลับมาอยู่ที่บ้าน และมีความสุขมากกว่าอยู่ในเมืองที่มีค่าครองชีพสูง

การแสดงรำตงเพื่อต้อนรับผู้มาเยือน

“ที่หมู่บ้านเรามีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน แบ่งปันอาหารซึ่งกันและกัน อาหารต่างๆ สามารถหาได้จากลำห้วยลำคลองโดยไม่ต้องเสียเงินซื้อ จะออกไปทำงานข้างนอกบ้างก็เมื่อที่บ้านไม่มีงาน ซึ่งเราอยากให้คลิตี้ล่างดีจังเป็นสื่อกลางในการรวมตัวกันของเด็กในหมู่บ้าน เพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้วัฒนธรรมของตนเอง มีกิจกรรมให้เด็กๆ ได้ทำ จะได้ห่างไกลจากปัญหาการติดเกมและยาเสพติดด้วย”  วรรณกล่าว

“คลิตี้ล่างดีจัง จึงเป็นพื้นที่ที่สร้างโอกาสในการเรียนรู้ทั้งสิ่งใหม่และเก่าไปพร้อมกัน เพื่อให้เด็กๆ ไม่ลืมของเก่า สร้างความมั่นใจ และภูมิใจในความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์  สามารถพัฒนาตัวเอง และอยู่ในสังคมได้ อย่างเท่าเทียมกับคนอื่นๆ”  

น้ำกล่าวสรุป

วันนี้ “คลิตี้ล่าง” ไม่ใช่ชุมชนสารพิษ(ตะกั่ว) แต่คือพื้นที่แห่งการเรียนรู้ในวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงแห่งผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ที่ผูกพันกับสายน้ำและธรรมชาติ ที่เยาวชนทุกคนได้ลุกขึ้นมาร่วมกันสืบสานตำนานการต่อสู้ ควบคู่ไปกับการร่วมอนุรักษ์ประเพณีและวัฒนธรรมที่งดงาม เพื่อร่วมกันเปลี่ยนภาพจำในอดีตให้กลายเป็น…“คลิตี้ล่างดีจัง”.

เรียนรู้งานจักสาน

“พื้นที่เรียนรู้คลิตี้ล่าง” สร้างเด็กรุ่นใหม่เกิดความภูมิใจในชาติพันธุ์

  • ลด Generation Gap คนต่างวัยสามารถเกิดความรู้ การเรียนรู้และความเข้าใจซึ่งกันและกัน ระหว่างผู้สูงอายุและคนในชุมชน ในการอยู่ร่วมกับสังคมที่แตกต่างอย่างมีความรู้สึกภาคภูมิใจและเท่าเทียม
  • เยาวชนมีรายได้เพิ่มขึ้น นำผ้าทอของหมู่บ้านไปผลิตเป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะเกิดความภาคภูมิใจในชาติพันธุ์ของตัวเอง กล้าบอกว่าตัวเองเป็นใครมาจากไหน  มีความมั่นใจก็กล้าคิดกล้าทำ
  • สามารถแก้ปัญหาเยาวชนติดเกมและยาเสพติด จากการเรียนรู้วัฒนธรรมของตัวเอง เป็นกิจกรรมที่นำมาซึ่งการแก้ปัญหาเยาวชนติดเกมและยาเสพติดด้วย
  • เกิดการพัฒนาแบบร่วมสมัย จากการเรียนรู้อดีตและปัจจุบัน

7 กิจกรรมพัฒนาตัวตนสุดเจ๋งทั่วประเทศ ร่วมสนุกได้ช่วงปิดเทอม

ช่วงนี้นักเรียนส่วนใหญ่ปิดเทอมกันเรียบร้อยแล้ว บางครอบครัวถึงกับแพ็กกระเป๋าจัดใหญ่ไปเที่ยวกันแล้วเรียบร้อย แต่สำหรับใครที่ยังไม่รู้จะไปที่ไหน วันนี้เรามีไอเดียดีๆ ที่จะให้น้องๆ เด็กๆ ได้ทำกิจกรรมในวันหยุดที่มีประโยชน์ สนุก และมีความสุขไปพร้อมๆ กันด้วย

เริ่มที่กิจกรรมแรกอย่าง

1. แคมป์อุ่นรักและทักษะชีวิต (Family Team Building)

ค่ายที่ให้ทั้งครอบครัวมาเรียนรู้และร่วมปลูกฝังการใช้ชีวิตของลูกตั้งแต่ปฐมวัยทำมาหากิน ปัจจัย 4 ขั้นพื้นฐานของชีวิต ฝึกเอาตัวรอด รับผิดชอบตัวเองได้ ฝึกวางแผน ทีมเวิร์ค กิจกรรมสื่อสารเพื่อความเข้าใจในครอบครัว ปลูกฝังภูมิคุ้มกันชีวิตทั้งร่างกายและจิตใจให้แข็งแรง  เพื่อเตรียมตัวเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุข มีพลังชีวิต มีความสมดุลด้านสมอง ร่างกาย และจิตใจ ผ่านกิจกรรมการใช้ชีวิตในไร่หยดพิรุฬที่แสนอบอุ่นและน่ารัก สนใจพาเด็กไปเรียนรู้พร้อมทำกิจกรรมกับผู้ปกครอง ดูรายละเอียดได้ที่ https://happyschoolbreak.com/event/family-team-building/

จำไว้ว่าคุณไม่จำเป็นต้องขังลูกไว้ที่บ้านเพื่อให้เขาปลอดภัย หรือไล่ให้เขาไปล่าสัตว์มาทำอาหารเพื่อความอยู่รอด แต่การให้เขาได้สัมผัสธรรมชาติบ้าง ก็จะทำให้พวกเขาไม่เป็นคนที่เอาแต่หวาดกลัว กลับกันเขาจะกล้าหาญ และรู้สึกว่าตัวเองมีศักยภาพที่จะเอาตัวรอดได้


2. ค่ายภาษาอังกฤษปิดเทอมนี้!! English Camp 2023 “Melody Magic” Music & The modern Thai lady

สำหรับผู้ปกครองที่มีลูกสาว หลานสาว วัย 9 – 15 ปี โรงเรียนราชินีมูลนิธิ จังหวัดฉะเชิงเทรา จัดกิจกรรมเพิ่มทักษะภาษาอังกฤษผ่านการทำกิจกรรมทางด้านดนตรี ไม่ว่าจะเป็น แต่งเพลง เขียนกลอน เต้น การเคลื่อนไหวร่างกาย สอดแทรกกิจกรรมที่จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตในสังคม ทั้งการเงิน การสื่อสาร เพื่อดึงศักยภาพและความกล้าพูด กล้าคิด กล้าแสดงออก ออกมาให้มากที่สุดด้วย กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมค้างแรมเป็นเวลา 7 วัน 6 คืน ระหว่างวันที่ 30 เมษายน – 6 พฤษภาคม 2566 ผู้ปกครองท่านไหนสนใจ ดูรายละเอียดได้ที่ https://bit.ly/42bl3nF


3. ค่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม Power Green Youth Camp

ว่ากันว่าธรรมชาติจะให้ประโยชน์ต่อมนุษย์ทั้งร่างกายและจิตใจ การออกไปสูดอากาศบริสุทธิ์ที่มีต้นไม้ร่มรื่นนั้น ช่วยในเรื่องภูมิคุ้มกัน ความดันโลหิตและคลายเครียดได้ นอกจากนี้เด็กๆ ยังได้ฝึกสมาธิกับการได้เฝ้าสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นในธรรมชาติอย่างใกล้ชิด

สำหรับผู้ปกครองท่านไหนที่อยากจะปลูกฝังให้เด็กๆ เป็นคนรักและหวงแหนในธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เราแนะนำค่าย Power Green Youth Camp ที่จะพาทุกคนในค่ายไปพบกับกิจกรรมที่หลากหลายทั้งให้ความรู้ ความรัก ฝึกให้มีจิตแบ่งปัน และการผจญภัยร่วมไปกับสัตว์ป่าหลายชนิด ณ อุทยานแห่งชาติ กุยบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ติดตามรายละเอียดที่นี่เลย https://happyschoolbreak.com/event/power-green-youth-camp/


4. ค่ายรักลูกให้ถูกธรรม 2566

ใครที่เป็นสายทำบุญ นั่งสมาธิ ฝึกจิต เรียนคุณธรรม พลาดไม่ได้กับ ค่ายรักลูกให้ถูกธรรม 2566 ค่ายที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการบริหารจิต เจริญปัญญา พัฒนาอีคิว โดยจะรับสมัครน้องๆ หนูๆ 4-16ปี เข้าร่วมอบรมส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมสำหรับเด็กตามวัย มีทั้งแบบค้างคืน และ ไปกลับ สามารถตรวจสอบคอร์สต่างๆ และวันเวลาได้ที่ https://happyschoolbreak.com/event/thamma-camp/


5. ค่ายบ้านฉาง ตรีม Adventure & Leadership camp

สำหรับผู้ปกครองท่านไหนที่ต้องการให้ลูกหลานได้พัฒนาตัวเองทั้งในด้าน ร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา โดยใช้กิจกรรม มิตรภาพ ท่ามกลางสิ่งเวดล้อมที่งดงามและการทำงานของชาวค่ายมืออาชีพ เราแนะนำ ค่ายบ้านฉาง ตรีม Adventure & Leadership camp ของ YMCA ที่เข้าใจผู้เข้าค่ายทั้งหญิง ชาย เด็กและเยาวชน พร้อมด้วยกิจกรรมมากมาย อาทิ ฐานรอก ฐานโรยตัว ฐานปืนหน้าผาสูง ฐานยิงธนู ฐานปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ทำอาหาร เดินทางไกล กิจกรรมชายหาด ปาร์ตี้คอนเสิร์ต รอบกองไฟ กิจกรรม Team building และอื่นๆ ค่ายมีหลายรอบ ดังนั้นดูรอบที่เหมาะกับเวลาของครอบครัวคุณๆ ได้ที่ https://happyschoolbreak.com/event/adventure-leadership-camp-199/# การได้สัมผัสกับความท้าทายใหม่ๆ จะทำให้เด็กๆ รู้สึกมั่นใจและภูมิใจในตัวเองเพิ่มมากขึ้น


6. ค่าย Agro CMU Xperience Camp ครั้งที่ 4 ตอน “Taste of Memories”

ใครเป็นชาวเหนือเจ้า หรือมีโปรแกรมจะไปเที่ยวเชียงใหม่ หรือมีลูกหลานในวัยม.ปลาย สนใจอยากเข้าคณะอุตสาหกรรมเกษตร

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ขอเชิญชวน น้อง ม.ปลาย สายวิทย์-คณิต ทุกจังหวัด ทุกพื้นที่ มาร่วมทริปแสนสนุก กับค่าย Agro CMU Xperience Camp ครั้งที่ 4 ตอน “Taste of Memories” ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 22-25 มิถุนายน 2566 (4 วัน 3 คืน) แต่ต้องรีบสมัครเพราะรับสมัครตั้งแต่วันนี้ – 14 เมษายน 2566นี้ เท่านั้น สนใจดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/3LvEBgy

ไม่ใช่เพียงแต่น้องๆ ที่อยากจะเข้าคณะนี้เท่านั้นที่สามารถแวะเข้าไปร่วมกิจกรรมนี้ได้ แต่เราอยากจะแนะนำว่า การเข้าค่ายที่จัดขึ้นโดยคณะในมหาวิทยาลัย จะสามารถบ่งบอกได้ว่า แท้จริงแล้วคุณชอบหรือไม่ชอบคณะนั้นๆ อาจจะได้มิตรภาพ ได้ทราบบรรยากาศการเรียนการสอน และการใช้ชีวิตในคณะนั้นๆ ในมหาวิทยาลัยนั้น และเคล็ดลับนี้สามารถนำไปใช้ได้กับค่ายของทุกคณะ ในทุกมหาวิทยาลัย


7. ค่ายจิตอาสาเพื่อเด็กกำพร้า และเด็กที่มีความต้องการพิเศษ และดูงานโรงพยาบาล  

สำหรับผู้ปกครองท่านใดที่ต้องการจะปลูกฝังความเป็นจิตอาสา ความรู้สึกอยากแบ่งปัน ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์คนอื่นๆ รวมทั้งที่อยากให้ลูกได้เรียนรู้วิชาชีพทางด้านสาธารณสุข เราแนะนำค่ายจิตอาสาเพื่อเด็กกำพร้า และเด็กที่มีความต้องการพิเศษ และดูงานโรงพยาบาล ที่จัดขึ้นโดย Tree Learning ให้น้องๆ ได้เรียนรู้ผ่านการร่วมทำกิจกรรม ดนตรี ศิลปะ บริจาคสิ่งของ ณ สถานสงเคราะห์เด็ก และมูลนิธิเพื่อเด็กที่มีความต้องการพิเศษ พัทยา เรียนรู้เกี่ยวเด็กด้อยโอกาส ร่วมทำกิจกรรมจิตอาสา และเป็นส่วนหนึ่งที่ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหา  กิจกรรมนี้สำหรับระดับชั้น ม.3-6 วันที่ 1 พฤษภาคมสนใจกิจกรรมนี้ สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/3FqsMVb

การให้เด็กๆ และเยาวชนได้ออกไปผจญโลกกว้าง โดยมีผู้ดูแลอย่างปลอดภัยนั้น ไม่ว่าจะค้างแรม หรือทริปแบบวันเดียว ล้วนก่อให้เกิดประสบการณ์ที่เป็นที่จดจำและน่าประทับใจ ความไม่สะดวกสบายบางอย่างที่มาพร้อมกิจกรรมที่ไม่ใช่การจดจ้องหน้าจอ หรือติดนิ่งอยู่กับการนั่งๆ นอนๆ นั้นสร้างประโยชน์อย่างมหาศาลให้กับเด็กๆ ซึ่งจะถูกฝังไว้ในส่วนลึกและถูกนำมาปรับใช้เมื่อเขาเติบโตมากยิ่งขึ้นในทุกช่วงวัย

ดังนั้นใช้ประโยชน์จากช่วงปิดเทอมนี้ แพ็กกระเป๋ากันเลย!

เบื้องหลังนวัตกรรม ‘Happy CP Gloves’ ความสำเร็จระดับโลก ที่เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ขั้นพื้นฐานรอบตัวเด็ก

‘Happy CP Gloves’ เริ่มต้นเป็นที่รู้จักเมื่อ 5 ปีก่อน เมื่อกลุ่มของเด็กๆ วัย 10 ขวบ 4 คนร่วมกันคิดค้น และสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ สำหรับช่วยเหลือสังคมโดยเฉพาะเรื่องของสุขภาพจากไอเดียเล็กๆ ที่ว่า จะทำอย่างไรเพื่อสร้างความสุขและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับใครสักคนบนโลกใบนี้

นส. ณิชมน สุภัทรเกียรติ (นิชชี่) นส.ไอริณรยา โสตางกูร (ลิซ) นาย ศุภวิชญ์ วรรณดิลก (ตี๋น้อย) และนาย สุภชีพ สหกิจรุ่งเรือง (ตาต้า) ภายใต้การดูแลของ อ.จีระศักดิ์ จิตรโรจนรักษ์ หัวหน้าศูนย์นวัตกรรมแห่งโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ 5 ปีก่อน จึงได้คิดที่จะทำถุงมือสำหรับผู้พิการทางสมองขึ้นโดยแรกเริ่มนั้นเพื่อเข้าประกวดเวทีประกวดนวัตกรรมนานาชาติที่ประเทศเกาหลีใต้  Korea International Youth Olympiad – KIYO 2017 ซึ่งในที่สุดทีมก็คว้าเหรียญเงินมาครองได้สำเร็จ

แต่ความสำเร็จไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น ไม่มีผู้ที่เกี่ยวข้องคนใดปล่อยให้ ‘Happy CP Gloves’ เป็นเพียงนวัตกรรมที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อส่งเวทีประกวดเท่านั้น หากแต่มีการต่อยอดขยับขยาย จนกลายเป็นสิ่งที่ใช้งานได้จริง และในอนาคตอันใกล้ ผู้ที่ต้องการใช้งานถุงมือแสนวิเศษนี้ก็จะได้รับถุงมือนี้ไปทั่วประเทศ และยังมีการส่งมอบนวัตกรรมนี้ออกไปทั่วโลกด้วย

นายสุภชีพเล่าว่า ตอนที่ได้รับโจทย์โปรเจกต์นี้มาจากอาจารย์จีรศักดิ์ว่าธีมคือ การช่วยเหลือคนพิการ ตอนนั้นเราก็เลือกที่มันนิช (หายาก) สักหน่อย เพื่อให้เข้าถึงคนพิการที่ยังได้รับการช่วยเหลือน้อย

“หลังจากได้ธีมมาแล้วเราก็มานั่งคิดว่า จะเลือกทำให้ใคร เพราะหมวดหมู่คนพิการหลายแบบ เราเลือกกลุ่มพิการทางสมอง (cerebral palsy-CP) จากนั้นเราก็ไปดูว่าจะช่วยอะไรเขาได้บ้าง โดยการไปทำรีเสิร์ชที่สมาคมศูนย์การเรียนรู้คนพิการบ้านแม่นก และที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ทำให้เราพบว่า น้องๆ ที่เป็น CP มือจะกำแน่น จนแทงเข้าไปในเนื้อตัวเองเพราะเขาควบคุมกล้ามเนื้อตัวเองไม่ได้ เราจึงคิดที่จะทำถุงมือขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหานี้”

นางสาว ไอริณรยา เสริมตรงนี้ว่า ตอนนั้นรู้สึกขึ้นมานิดหนึ่งว่า คนที่ป่วยก็อายุเท่าๆ กันกับตนเอง แต่ไม่มีโอกาสได้เหมือนคนทั่วไป จึงอยากจะช่วยเขาให้ได้

“ตอนที่ไปที่รพ. จุฬาจะรู้สึกค่อนข้างเซ็นสิทีฟนิดนึง เพราะตอนนั้นก็เห็นว่าเขาเป็นเด็กเหมือนกับเรา แต่ไม่ได้มีโอกาสที่จะเรียนรู้ หรือมีประสบการณ์หลายอย่างที่เสียไปเพราะป่วยตรงนี้ ทำให้เราอยากจะช่วยเขา เราก็เลือกที่จะให้โปรดักเป็นของเล่น เพราะเราโฟกัสที่เด็ก เราก็อยากให้เขาได้เล่นของเล่น ได้มีโอกาสมากขึ้นที่จะหายดีมากยิ่งขึ้น”

เมื่อได้นำผลงานรีเสิร์ชมาพูดคุยกันแล้ว จึงทำให้เกิดเป็นถุงมือที่ใช้ประโยชน์ได้ และเป็นของเล่นได้ด้วย

“ถุงมือ  ‘Happy CP Gloves’ มีทั้งสิ้น 5 รูปแบบผ่านตัวสัตว์ทั้งสิ้น 5 ตัว ซึ่งแต่ละตัวก็มีประโยชน์แต่ละตัวก็มีประโยชน์ต่างกันไป ตามความต้องการความช่วยเหลือของผู้ใช้ครับ เช่น ช่วยเรื่องการมองเห็น การได้ยิน และช่วยไม่ให้นิ้วเขาล็อก”  นาย ศุภวิชญ์กล่าวเสริมเพื่อนๆ

ก่อนที่ สุภชีพจะเล่าว่า คนพิการทางสมองจะมีอาการแตกต่างกันออกไป ซึ่งในเบื้องต้น ‘Happy CP Gloves’ ก็ตั้งใจตอบสนองทุกความต้องการนั้น

“ถุงมือที่เราทำเป็นถุงมือที่เป็นรูปสัตว์ต่างๆ ติดไว้ ซึ่งถุงมือ ‘Happy CP Gloves’ นี้ก็แก้ที่ปัญหาเลย เช่น เราทำถุงมือตุ๊กตากระต่าย ที่เวลาเรากำแล้วมันจะมีฟันไม้ เวลากระทบกันจะมีเสียง ถุงมือตุ๊กตาไก่ มีไข่และมีเชือกอยู่ในก้นเวลาบีบไข่จะร่วงออกมา  ถุงมือตุ๊กตากบ ที่บีบแล้วมีเสียง และถุงมือตุ๊กตาเต่า เอาไว้ล็อกนิ้ว และมีเสียงปี๊ดๆ ผู้พิการบางคนก็เป็นบางอาการ แต่ก็มีหลายคนที่เป็นทุกอาการในคนเดียว เราพยายามทำให้ครอบคลุมทุกอาการ แต่ว่าตอนนี้ยังไม่ไม่ได้ขนาดนั้นครับ”

เนื่องจากปัญหาการผลิตทำให้ถุงมือ ‘Happy CP Gloves’ จะสามารถผลิตออกมาได้ 2 แบบเท่านั้น คือไก่กับเต่า

“เราหาผู้ผลิตให้ไม่ได้เพราะเป็นงานจุกจิกมาก และยังเป็นงานที่มีรายละเอียดแตกต่างไปจากการตัดเย็บทั่วไป กว่าจะหาที่รับทำให้ก็กินเวลามาก ในระหว่างนั้นเราจะหยุดก็ได้ แต่ถ้าเราไม่ทำมันขึ้นมา มันจะไม่มีประโยชน์อะไรให้สังคมเลย” นายชนวีร์ สุภัทรเกียรติ คุณพ่อของนางสาวณิชมนบอกกับเราอย่างนั้น

“เรามีโปรดักแล้ว มีโอกาสที่จะช่วยเหลือพวกเขาได้ก็อยากจะช่วยให้เต็มที่” ณิชมนเสริมคุณพ่อบ้าง

สำหรับการต่อยอดในเส้นทางของถุงมือ ‘Happy CP Gloves’ นี้ ทั้งทีมเด็กๆ และผู้ปกครองบอกกับเราว่า จะผลิตและส่งต่อไปยังผู้พิการที่ต้องการทั่วประเทศ ผ่านศูนย์การศึกษาพิเศษทุกจังหวัดในประเทศ และยังจะมีการเผยแพร่ความรู้นี้ไปสู่ทั่วโลกด้วย

“เราจะผลิตและนำไปแจกจ่ายให้เกิดการใช้งานจริง โดยติดต่อศูนย์การศึกษาพิเศษในทุกๆ จังหวัด ซึ่งก็มีตอบกลับมาบ้างแล้วส่วนหนึ่งว่า เขาต้องการกี่ตัว มีเด็กกี่คน ไซซ์เท่าไร แต่เป้าหมายของเราก็คือทั่วประเทศ” ชนวีร์พูดถึงเป้าหมายของทีมซึ่งบัดนี้ผู้ปกครองทุกคนอุทิศตัวกลายเป็นส่วนหนึ่งของทีมร่วมกับเด็กๆ และอาจารย์ที่ปรึกษาเรียบร้อยแล้ว

“เราพบว่า ถุงมือของเรามันไม่ได้แค่ช่วยผู้พิการทางสมองได้เท่านั้นครับ ในงานวันคนพิการสากล ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครที่ผ่านมานั้น คุณพ่อคุณแม่พาผมกับตี๋น้อยไปงานด้วย ก็ได้ไปเชิญชวนให้ทุกคนรู้จักงานของพวกเรา ทำให้เรารู้ว่ามีกลุ่มหนึ่งที่เรายังไม่ได้แตะ นึกไม่ถึง เพราะคนในงานที่มาหาเราไม่ได้เป็น CP แต่เป็นโรคอื่น เช่น คนที่มีปัญหาเรื่องสโตรค เส้นเลือดในสมองตีบแตก แล้วมือของเขาก็จะมีลักษณะเหมือนกันกับผู้พิการทางสมองคือ ข้อมือผิดรูป ซึ่งมีมาเยอะกว่าคนที่เป็น CP ถามว่าเราสอนเย็บใช่ไหม ในอนาคตเราอาจจะต้องสอนวิธีสร้างถุงมือนี้ได้ด้วยตัวเองด้วยครับ และพี่ๆ เหล่านั้นก็มีไอเดียมาให้เราเยอะมาก” สุภชีพบอก

“ด้วยไอเดียนี้ของตาต้า เราเลยคิดว่าจะปล่อยไอเดียต้นแบบไปทางสื่ออินเทอเน็ต เพื่อเป็นประโยชน์กับคนทั่วโลกไปเลย” ชนวีร์กล่าว

ศ.พญ.ธนินี สหกิจรุ่งเรือง คุณแม่ของนาย สุภชีพ เล่าว่า หลังจากที่โปรเจกต์นี้ได้รับรางวัลเหรียญเงินเมื่อ 5 ปีก่อนที่ประเทศเกาหลี ก็ยังคงได้รับอีก 3 รางวัล ได้แก่ 1) เหรียญทองจากงาน The 5th International Invention Innovation Competition in Canada (ICAN 2020) ประเทศแคนาดา ในปี 2563 2) เหรียญทองจากงาน World Invention Creativity Olympic (WICO) ประเทศเกาหลีใต้ ในปี 2563

และ 3) รางวัล Adman Awards: Creativity for Sharing Awards ในหมวด Design ประเทศไทยในปี 2562 ซึ่งไม่ได้อยากให้โปรเจกต์ได้รางวัลแล้วจบไป แต่ต้องสร้างประโยชน์แก่สังคมได้จริงด้วย

“เราพยายามสอนให้เขารู้จักการช่วยเหลือแบ่งปันมาตั้งแต่เด็ก และเมื่อมาได้ทำโปรเจกต์นี้ก็ต้องถือว่าเป็นโปรเจกต์เบสเลินนิ่ง (การเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน-Project Based Learning: PBL) ที่ดีมาก เพราะในตลอดกระบวนการจะมีการให้เด็กได้เรียนรู้หลายๆ อย่างไม่ว่าเขาจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ทั้งการรับฟังปัญหา การตัดสินใจว่าจะทำอะไร สร้างนวัตกรรมอะไรขึ้นมา ซึ่งตรงนี้เด็กๆ ก็เป็นคนตัดสินใจเองด้วยวุฒิภาวะของเด็ก 10 ขวบในตอนนั้น มันจึงไม่ใช่นวัตกรรมไฮเทค แต่มันสร้างประโยชน์ได้จริง และเราเองไม่ได้อยากได้แค่เหรียญทอง โดยที่ไม่ได้ทำให้เขาเติบโตอะไร ก็คิดว่านี่เป็นเหตุผลที่ให้เด็กๆ ได้ทำผลงานบางอย่าง รีเสิร์ช ออกแบบ ใช้ความคิดสร้างสรรค์ และทำผลงานออกมา และตอนนั้นเราได้สัญญากับแม่นกไว้ว่า จะต้องเอานวัตกรรมนี้มาใช้เด็กๆ ให้ได้  และเราอยากจะรักษาคำพูดนี้ไว้ค่ะ ตอนนี้เด็กๆ ก็ได้เริ่มเรียนรู้เรื่องการระดมทุน เมื่อสอบเสร็จแล้วเราจะให้ให้เขาไปนำเสนอเพื่อระดมทุนกับคอปอเรทใหญ่ๆ ให้เขาพิทช์งานด้วยตัวเอง นอกจากจะช่วยเหลือคนอื่นได้แล้ว ก็เป็นกระบวนการเติบโตของเด็กๆ ด้วย พ่อแม่ก็อยู่ในกลุ่มนี้ช่วยเหลือกันดีค่ะ”

นางอุษณี โสตางกูร คุณแม่ของน.ส. ไอริณรยา กล่าวถึงความรู้สึกของตนเมื่อมั่นใจว่า โปรเจกต์นี้จะสำเร็จและยิ่งใหญ่กว่าที่ตั้งใจว่า ต้องขอบคุณความร่วมมือของเด็กๆ และผุ้ปกครองทุกคน ที่ทำให้สิ่งที่ตนพยายามพร่ำสอนลูกๆ นั้นเป็นจริงขึ้นมาได้

“เราต้องการที่จะปลูกฝังเขาตั้งแต่เด็กๆ ว่าอยากจะให้เขาแบ่งปัน อันนี้ไม่ได้พูดให้ดูสวยงาม แต่ว่าพยายามปลูกฝังเล็กๆ น้อยๆ อยู่ตลอดเวลา แบ่งปันของ น้ำใจ แบ่งปันอะไรก็ได้ที่เราทำได้ แล้วก็รู้สึกว่าลูกทั้งสองก็มีจิตใจที่อยากจะเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แล้วโชคดีที่โรงเรียนมีกิจกรรมนี้และเด็กๆ ก็อยากจะเรียนรู้และทำกิจกรรม ตรงนี้เหมือนสปริงบอร์ดที่ทำให้เรามาถึงจุดนี้ที่อยากจะช่วยกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งขึ้นมาให้ได้ ดีใจและขอบคุณทีมของเราโดยเฉพาะคุณชนวีร์ที่พยายามหาผู้ผลิตถุงมือนี้จนได้ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่มีใครทำให้ ก่อนหน้านี้เราคุยกันว่า เราอยากจะทำสิ่งที่จับต้องได้ ต้องช่วยคนได้จริงๆ ได้ไปถึงน้องๆ ที่เรายังจำหน้าได้ที่ได้เคยไปเยี่ยม และในวันนี้ก็ดีใจที่เรามีโอกาสสานฝันได้สำเร็จ ต้องขอบคุณอีกครั้งกับผู้ปกครองทุกท่านค่ะ”

นางอรพิน วรรณดิลก คุณแม่ของนายศุภวิชญ์ บอกว่า เรื่องนี้เป็นความร่วมมือและสามัคคีของคุณครู เด็กๆ และคุณพ่อคุณแม่ และยังสอนเด็กๆ ได้ด้วย

“เราช่วยกันเยอะมาก ทั้งเด็กๆ ทั้งผู้ปกครองก็ต้องทุ่มเท เพราะมันต้องอยู่เย็นหลายวัน คุยกันหลายครั้ง แล้วในที่สุดสิ่งที่เราทำขึ้นมามันได้ใช้จริง ก่อให้เกิดประโยชน์จริง สิ่งนี้สอนให้เด็กๆ รู้ว่า ถ้าเราตั้งใจมันสำเร็จแน่นอน”

อุปสรรค์ใหญ่ข้อหนึ่งที่ทำให้โปรเจกต์นี้ต้องรอมาถึง 5 ปีกว่าจะเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมานั้น ก็คือ เงินทุน เนื่องจาก ถุงมือ ‘Happy CP Gloves’ มีรูปแบบเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวชัดเจน ทำให้ไม่สามารถหาผู้ผลิตได้ และเมื่อหาได้ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก แต่เพื่อให้งานชิ้นนี้ประสบความสำเร็จ ทีมจึงตัดสินใจระดมทุน ไม่ว่าจะเป็นจากผู้คนหรือหน่วยงานที่รู้จัก จากหน่วยงานที่จะฝึกให้เด็กๆ ได้ทดลองนำเสนอผลงานด้วยตนเอง และยังมีการระดุมทนจากเว็บไซต์ เทใจดอทคอม ด้วย

“เราตั้งใจจะผลิตประมาณ 2,000 ชิ้น ชิ้นละประมาณ 500 บาท โรงงานขอค่ามัดจำก่อน 50 % เป็นเงินประมาณ 5 แสนบาท โดยจะใช้เวลาทำประมาณ 2 เดือน แต่คิดว่าน่าจะทำมือทั้งหมด แล้วตุ๊กตาจะลดเหลือแค่ 2 ตัวเพราะจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นถ้าเราทำมากกว่านั้น ตอนนี้ จะมีทุนจากเทใจ และบริษัทต่างๆ โดยทาง โรงเรียนสาธิตจุฬาฝ่ายประถมออกจดหมายให้เราเพื่อที่จะไปขอทุน และทางผู้ปกครองก็จะระดมทุนจากคอนเนกชันต่างๆ ที่มีครับ” ชนวีร์เล่ารายละเอียด

โดยผู้ที่สนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จครั้งนี้สามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ https://taejai.com/th/d/happycpgloves/

แพทย์หญิงธนินีกล่าวถึงการระดมทุนตรงนี้ว่า “นอกจากเรื่องการเรียนในห้องเรียนก็คิดว่า คุณพ่อคุณแม่หลายคนก็มองเห็นว่าการเรียนรู้นอกห้องเรียน การเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงด้วยตา เห็นบางอย่างที่ไม่เคยเห็น ได้ทำตั้งแต่อายุน้อย มีทัศนคติที่ดีตั้งแต่วัยเด็กและวัยรุ่นตอนต้น เหล่านี้จะเป็นพลังงานชีวิตที่ดีให้กับเขาในระยะยาว สิ่งที่เด็กๆ พอจะช่วยได้ในขอบช่ายของเขาก็คิดว่า ทุกคนมีประสบการณ์ตรงในโปรเจกต์นี้ก็จะเป็นพลังเล็กๆ ที่หล่อเลี้ยงเขาให้ทำสิ่งอื่นๆ ต่อไปในอนาคต และในเทใจดอทคอม ก็จะสอนพวกเขาได้ว่า มีคนอยากทำความดีเยอะแยะ แต่ว่ามันหากันไม่เจอ อย่าไปคิดว่าคนไม่อยากทำความดี ผู้บริจาครายย่อยก็มาเรื่อยๆ คิดว่าลูกๆ เด็กๆ ที่ได้ทำก็จะมีประสบการณ์ตรงนี้ด้วยค่ะ”

นายชนวีร์กล่าวถึงประโยชน์ที่สำคัญในโปรเจกต์นี้ว่า นอกจากถุงมือ ‘Happy CP Gloves’ ช่วยผู้พิการทางตรง พัฒนาด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์แล้วก็ยังมีประโยชน์ทางอ้อมด้วย

“ประโยชน์ทางอ้อม ก็คือมีประโยชน์ทางสัญลักษณ์ อย่างที่แม่นก (สมาคมศูนย์การเรียนรู้คนพิการบ้านแม่นก) เคยพูดไว้ว่า เมื่อผู้ป่วยเห็นว่าโปรเจกนี้มันสำเร็จขึ้นมาก็จะรู้สึกว่า เขาไม่ได้ถูกทอดทิ้ง แต่คนในสังคมยังคงช่วยเขาอยู่ อีกอย่างคือ ถ้าโปรเจกต์นี้สำเร็จ เยาวชนคนไทยก็จะเห็นว่า มีเด็กที่สามารถช่วยคนอื่นได้จริงๆ เขาก็จะรู้สึกว่า เฮ้ย พวกนี้ทำได้ เราก็จะทำได้ แทนที่จะไปทำอย่างอื่นที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์”

จากโปรเจกต์เล็กๆ ของเด็กตัวเล็กๆ ในวันนั้น สู่ความช่วยเหลือที่จะถูกส่งต่อไปสู่ผู้ต้องการทั่วโลก เราขอเชิญทุกคนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในความดีงามในครั้งนี้ซึ่งจะสัมฤทธิ์ผลในไม่ช้าด้วยใจที่อิ่มเอม อย่างที่ ไอริณรยาหนึ่งในเด็กหญิงตัวน้อยเมื่อวันนั้นบอกว่า

“ดีใจค่ะ ที่โปรเจ็กต์ที่เราเคยทำตอนเด็กๆ มันสำเร็จไปได้อีกขั้นหนึ่ง ไม่ใช่แค่อยู่ในการแข่งขันเท่านั้น”

9 กิจกรรมในกรุงเทพฯ หาทำได้ช่วงปิดเทอม

หลายโรงเรียนเริ่มทยอยสอบปลายภาคและปิดเทอมกันแล้ว และก็จะกลายเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับผู้ปกครองว่า ปิดเทอมนี้จะชวนลูกๆ ทำอะไรกันดี ที่สร้างประโยชน์ สร้างความสุข ส่งเสริมความรู้และความคิดสร้างสรรค์

ถ้ายังคิดไม่ออก วันนี้เรามีทางเลือกดีๆ มานำเสนอ สำหรับใครที่อยู่กรุงเทพฯ และปริมณฑล หรือตั้งใจจะมาแวะเที่ยวระแวกนี้ ดังนี้

1. กิจกรรมเรียนรู้ทำจีวรพระ จากขยะพลาสติก จ.สมุทรปราการ

วันที่ 1 เมษายนนี้หากว่าใครยังว่างๆ อยากจะเชิญชวนให้คุณพ่อคุณแม่และลูกๆ ได้ไปทำกิจกรรม ทำจีวรพระจากขยะพลาสติกด้วยกัน ทั้งนี้จะได้เรียนรู้ทั้งวินัยสงฆ์ และปลูกฝังการรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อโลกของเราด้วย

ติดตามรายละเอียดกิจกรรมได้ที่ https://happyschoolbreak.com/event/make-holy-robe-from-plastic/#


2. โครงการส่งเสริมกีฬาขั้นพื้นฐาน “ร้อนนี้มีกีฬาและนันทนาการเพื่อลูกรัก” ประจำปี 2566 โดย ศูนย์นันทนาการ กรมพลศึกษา

ปิดเทอมนี้ศูนย์นันทนาการ กรมพลศึกษามีกิจกรรมทั้งการละเล่น กีฬา งานฝีมือ ฝึกทำอาหารและอื่นๆ อีกมากมายที่เหมาะสำหรับน้องๆ หนูๆ ตั้งแต่วัยเด็กเล็กจนถึงวัยรุ่น แต่กระซิบว่าต้องรีบหน่อย เพราะหมดเขตรับสมัครวันที่ 20 มีนาคมนี้เท่านั้น สนใจอ่านรายละเอียดได้ที่ https://happyschoolbreak.com/event/sports-and-recreation-for-your-beloved-children2023/

ย้ำว่าทุกอย่างฟรี!!!


3. Coding and Robots

 ค่ายในช่วงปิดเทอมมีหลายค่าย ไม่ว่าจะเป็นค่ายเสริมทักษะ ค่ายเพื่อฝึกฝนสำหรับการศึกษาต่อ ก็แล้วแต่ว่าใครจะเลือกทางไหน แต่สำหรับใครที่สนใจเรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยี หุ่นยนต์บังคับต่างๆ เราไม่อยากให้พลาดค่ายนี้เลย ค่าย Coding and Robots เป็นที่เรียนรู้พื้นฐานเทคโนโลยี & ประยุกต์การเขียนโค้ด และสร้างหุ่นยนต์บังคับ ที่จะทำให้เกิดสิ่งใหม่ขึ้นมา ทั้งทันสมัย และได้ฝึกทำอะไรใหม่ๆ ไปด้วยพร้อมกัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://happyschoolbreak.com/event/coding-and-robots/


4. Slam Poetry Contest 2023

 ใครเป็นสายนักกลอน สายศิลปิน งานนี้ไม่ควรพลาด เมื่อ Point Avenue Thailand จัดการประกวด Slam Poetry Contest 2023 ที่ซึ่งจะให้น้องๆ จนถึงวัยรุ่นได้ปล่อยพลังไปกับการฝึกฝนและพัฒนาทั้งทักษะการเขียน การพูด กระทั่งกลายเป็นศิลปินที่แท้จริง ติดตามรายละเอียดได้ที่ https://happyschoolbreak.com/event/slam-poetry-contest-2023/

กระซิบว่างานนี้ต้องรีบนิด เพราะเปิดรับสมัครถึงวันที่ 10 มีนาคมนี้เท่านั้น


5. ค่ายภาษาและวัฒนธรรมจีน🇨🇳 “จอหงวน”

Active Learning เรียนจริง รู้จริง ต่อยอดได้จริง จบกิจกรรมแล้วรับ Certificate จาก AFS ไปกับค่ายภาษาและวัฒนธรรมจีน🇨🇳 “จอหงวน” รุ่น 2 ค่ายสำหรับน้อง ๆ อายุ 13-16 ปี ที่มีความสนใจในภาษาและวัฒนธรรมจีน ไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐาน ขอมีแค่ใจเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรม หรืออยากลองศึกษาตนเองก่อนต่อยอดศึกษาและเปลี่ยน ณ ประเทศจีนในอนาคตสมัครได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง 31 มีนาคม สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมไปที่ https://happyschoolbreak.com/event/icl-chinese-camp-2/


6. อาสาบำรุงต้นไม้ สวนสาธารณะเบญจกิตติ

ปลุกความเป็นจิตอาสาในตัวคุณและลูกๆ ด้วยกิจกรรม อาสาบำรุงต้นไม้ สวนสาธารณะเบญจกิตติ โดยพบมิตรจิตอาสาที่เชิญชวนมาร่วมทำกิจกรรม ‘อาสาบำรุงต้นไม้’ โดยอาสาจะได้กำจัดวัชพืช ใส่ปุ๋ย พรวนดินและเก็บขยะในสวนสาธารณะเบญจกิตติ ปอดใหญ่ใจกลางกรุง สนใจกิจกรรมศึกษารายละเอียดได้ที่ https://happyschoolbreak.com/event/tree-care-volunteer/


7. ค่ายโอลิมปิกวิชาการ สวช. ภาคฤดูร้อน ประจำปี พ.ศ. 2566 (NAT Olympic Summer Camp 2023)

มาทางฝั่งวิชาการกันบ้าง ใครที่สนใจอยากจะลองเข้าค่ายโอลิมปิกวิชาการ ทาง สำนักงานโครงการสอบวัดทักษะวิชาการระดับชาติจัดค่ายโอลิมปิกวิชาการ สวช. ภาคฤดูร้อน ประจำปี พ.ศ. 2566 (NAT Olympic Summer Camp 2023) ขึ้นพร้อมเปิดรับสมัครแล้วจนถึงวันที่ 31 มีนาคมนี้ ลองตรวจสอบรายละเอียดดู แล้วพุ่งไปเลย https://happyschoolbreak.com/event/nat-olympic-summer-camp-2023/


8. Product Design Trip เรียนรู้การออกแบบและผลิตผลิตภัณฑ์

สายงานศิลป์ งานออกแบบเชิญทางนี้ ONCEs Thailand เปิดค่ายเพื่อให้ทุกคนได้เรียนรู้อย่างลึกซึ้งถึงงานด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ตั้งแต่การเรียน การเตรียมตัว และการทำงาน จนถึงรายละเอียดเคล็ดลับต่างๆ มืออาชีพตัวจริงเสียงจริง ในวันที่ 22 เมษายนนี้ สนใจอ่านรายละเอียดและรีบจองที่นั่งได้ที่ https://happyschoolbreak.com/event/product-design-trip5/


9. เยี่ยมชมเซฟติสท์ฟาร์มพร้อมกิจกรรม Farm Visit

บอกว่าเยี่ยมชมฟาร์ม แน่นอนว่าไม่ใช่แค่เพียงเดินไปเดินมาเฉยๆ แต่เซฟติสท์ฟาร์มยังมีกิจกรรมน่าสนใจอันจะสร้างการเรียนรู้และเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ให้กับน้องๆ หนูๆ ระดับประถมวัยได้เป็นอย่างดี เช่น กิจกรรม Nature walk และสร้างสรรค์งานศิลปะจากธรรมชาติ รวมทั้งดูการเจริญเติบโตของนกและเหล่าสัตว์ตัวน้อยที่เป็นวิทยศาสตร์สุดๆ กิจกรรมครั้งที่ใกล้ที่สุดที่จะถึงคือวันที่ 12 มีนาคมนี้ แต่หากเตรียมตัวกันไม่ทันจริงๆ เซฟติสท์ฟาร์มเขามีจัดกิจกรรมเยี่ยมฟาร์มกันเดือนละครั้ง สนใจดูรายละเอียดได้ที่ https://happyschoolbreak.com/event/safetist-farm-farm-visit/


ที่ได้กล่าวถึงไปนั้น เป็นเพียงจำนวนเล็กๆ ในหลายๆ กิจกรรมที่สร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อให้ปิดเทอมของเด็กๆ กลายเป็นวันที่แสนวิเศษของทั้งครอบครัว สำหรับครอบครัวไหนที่สนใจกิจกรรมอื่นๆ ก็สามารถแวะไปเลือกสรรกันได้ที่ https://happyschoolbreak.com/event/  ใครชอบกิจกรรมไหนก็ไปกันได้เลย

เพราะกิจกรรมไม่เพียงแต่เป็นเรื่องของความสนุกเท่านั้น แต่เป็นวิธีที่สำคัญที่สุดวิธีหนึ่งในการสร้างการเรียนรู้ในทุกๆ ด้านของเด็ก และจะสามารถเป็นพื้นฐานในการเจริญเติบโตของเขาด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ความฉลาดทางอารมณ์ ความคิดสร้างสรรค์ ไปจนถึงจุดเริ่มต้นของการคิดอย่างมีหลักการและเหตุผลด้วย

ปิดเทอมนี้ พาเด็กๆ ออกจากบ้าน ไปทำกิจกรรมสนุกๆ กันเถอะ!

DIY การ์ดวาเลนไทน์ กระจายความรัก

สุขสันต์วันวาเลนไทน์!!!

ขอให้ความรักตลบอบอวลอยู่รอบตัวของทุกคน และสำหรับใครที่กำลังมองหากิจกรรมให้น้องๆ หนูๆ ได้ทำด้วยกันผ่านธีมวันแห่งความรัก วันนี้เรามีเรื่องราวน่ารักๆ มานำเสนอ นั่นก็คือ “การ์ดวาเลนไทน์ ฉบับ DIY”

การทำการ์ดวันวาเลนไทน์ในครั้งนี้นอกจากจะได้ส่งต่อความรักแล้ว ยังได้เพิ่มทักษะความคิดสร้างสรรค์ ฝึกสมาธิ กล้ามเนื้อข้อมือ และทักษะการสื่อสารพูดคุยกันอีกด้วย

การ์ดของเราในวันนี้ไม่ยากเลย แต่เรามีการเปิดช่องว่างไว้ให้คุณพ่อคุณแม่ ได้เปลี่ยนทักษะ วิธีการบางอย่าง เพื่อให้สอดรับกับความชอบและระดับทักษะและความสามารถของน้องๆ กันด้วย

เรามาเริ่มกันเลย!

วัสดุอุปกรณ์สำหรับการทำการ์ดวาเลนไทน์ในวันนี้ไม่มาก อาทิ

อุปกรณ์
  1. กระดาษค่อนข้างหนาไซซ์ เอ6 (เอ4 แบ่งครึ่ง 2 ครั้ง)
  2. กระดาษหลากสี สำหรับทำรูปหัวใจ ตรงนี้สามารถใช้สติกเกอร์รูปหัวใจ หรือจะวาดด้วยสีชนิดต่างๆ แทนได้ อาทิ สีน้ำ สีไม้ สีชอล์ค สีเทียน ฯลฯ
  3. กรรไกร กาว ดินสอ

 วิธีทำ

  1. นำกระดาษมาตัดให้ได้ขนาดการ์ดตามต้องการ (ในที่นี้ใช้ขนาดเอ 6)
  2. นำกระดาษสีมาวาดรูปหัวใจลงไป ให้ได้หลายขนาด แล้วตัดออกมาเป็นชิ้นๆ (หากคุณพ่อ คุณแม่และคุณลูก เลือกใช้วิธีอื่นให้ข้ามขั้นตอนนี้ไป)
  3. เขียนคำอวยพรลงในการ์ด (กระดาษที่ได้จากข้อ 1) ตามต้องการ
  4. นำกระดาษรูปหัวใจที่ได้จากข้อ 2 มาติดลงบนการ์ดบนพื้นที่ว่างส่วนที่เหลือ ทริคคือ หากติดกาวเฉพาะตรงส่วนปลายแหลมของหัวใจจะทำให้การ์ดมีมิติมากยิ่งขึ้น

ในขั้นตอนที่ 4 นี้ คุณพ่อคุณแม่สามารถชวนน้องๆ วาดรูปหัวใจด้วยอุปกรณ์อื่นๆ หรือแปะสติกเกอร์ลงไปแทนก็ได้

เมื่อติด-วาด-ระบายสี จนเป็นที่พอใจแล้ว การ์ดวาเลนไทน์ฉบับ DIY ที่เกิดจากการลงแรงลงความคิดร่วมกันของพ่อแม่ลูกก็เป็นอันเสร็จ สามารถพลิกด้านหลังเขียนคำอวยพรเพิ่มลงไปได้อีกด้วย

การ์ดที่เด็กๆ มีส่วนร่วมในครั้งนี้อาจจะไม่ใช่การ์ดวาเลนไทน์ที่สวยที่สุด แต่เชื่อมั่นว่าผู้รับจะต้องรับรู้ถึงคุณค่าต่อสิ่งที่มาพร้อมกับการ์ดใบนี้อย่างแน่นอน

แล้ววันวาเลนไทน์ปีนี้จะอบอุ่นมากกว่าทุกปี

—-

“พื้นที่เรียนรู้” ประตูสู่ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21

การศึกษาเป็นเรื่องของคนทุกคน และไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในห้องเรียนสี่เหลี่ยม หรือในโรงเรียนเท่านั้น โลกของการเรียนรู้มีความหลากหลายและกว้างขวาง การเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกสถานที่และทุกเวลา พื้นที่การเรียนรู้ (Learning Space) จึงเป็นกุญแจสำคัญในการเปิดโลกแห่งการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนออกไปได้อย่างไม่สิ้นสุด

พื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชน คือพื้นที่ทางกายภาพที่จับต้องได้ หรือ พื้นที่ออนไลน์/แพลตฟอร์มออนไลน์ มีกิจกรรมและหลักสูตรที่สร้างการเรียนรู้ และมีพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนมาสร้างการเรียนรู้ด้วยตนเอง เพื่อเพิ่มความรู้ ความเข้าใจ และทักษะต่างๆ สามารถวัดผลได้ กระบวนการต่างๆ ของพื้นที่เรียนรู้ (Learning Space) จะนำไปสู่ผลลัพธ์คือการพัฒนาทักษะในด้านต่างๆ ของเด็กและเยาวชนที่จำเป็นสำหรับโลกศตวรรษที่ 21 (A S K)

(A) Attitude ทัศนคติ คุณค่า

  1. เห็นคุณค่า เกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง
  2. มีเป้าหมาย แรงบันดาลใจ
  3. มุ่งมั่น พยายาม อดทน
  4. เห็นคุณค่าชุมชน รู้ร้อนรู้หนาว อยากเข้าไปเปลี่ยนแปลงชุมชนและสังคม

(S) Skill ทักษะ

  1. การสื่อสาร
  2. การทำงานร่วมกับผู้อื่น
  3. การคิดวิเคราะห์
  4. การสร้างสรรค์

(K) Knowledge ความรู้

ความรู้ที่เป็นมาตรฐานตามเป้าหมายของกิจกรรมและความรู้เฉพาะพื้นที่

ดังนั้น “พื้นที่เรียนรู้” จึงเป็นประตูสู่ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21

DIY ปีนางฟ้ารักษ์โลก ชวนครอบครัวทำสิ่งประดิษฐ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เมื่อลูกถึงวัยที่ต้องฝึกกล้ามเนื้อมือ และฝึกสมาธิ อีกทั้งยังต้องห่างไกลหน้าจอ วันนี้เรามีกิจกรรมดีๆ ที่คุณพ่อคุณแม่จะสามารถร่วมทำกับลูกได้ และยังไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มมากมาย เพราะวัสดุที่แนะนำให้ใช้ ล้วน (ส่วนใหญ่) มีอยู่แล้วที่บ้าน

นั่นก็คือ “ปีกนางฟ้ารักษ์โลก”

วัสดุอุปกรณ์หาได้ง่ายมีอยู่แล้วในบ้านอย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น อันได้แก่

  1. กระดาษลัง (คุณแม่ท่านไหนชอบสั่งของออนไลน์ก็ต้องยิ้มออกแล้วสำหรับข้อนี้) ขนาดประมาณ 30×50 เซนติมเมตร โดยสามารถใช้กระดาษที่มีความหนาสักหน่อยแทนได้ จะเป็นกระดาษแข็ง หรือกล่องผลิตภัณฑ์ต่างๆ ก็ได้เช่นกัน
  2. กระดาษขนาดเอสี่ หน้าเดียว เป็นกระดาษเหลือใช้ ที่ใช้ไปแล้วเพียงหนึ่งหน้า ด้านหลังยังเป็นสีขาว หรือสีพื้น หรือหากต้องการเพิ่มสีสันจะใช้กระดาษสีก็ได้
  3. ยางยืดเส้นเล็ก ยาวประมาณ 30 เซนติเมตร
  4. ดินสอ ไม้บรรทัด กรรไกร กาว (เลือกชนิดตามความเหมาะสมกับกระดาษในข้อ 1 )
  5. กระดาษลังความยาวประมาณ 4×16 เซนติเมตร

หมายเหตุ: ขนาดต่างๆ ที่บอกไว้นั้น สามารถดัดแปลง ปรับเปลี่ยนตามขนาดรูปร่างของลูกๆ น้องๆ หนูๆ ที่จะเป็นคนใส่ปีกนางฟ้าได้ตามชอบ

วิธีทำ

ตัวฐาน

  1. พับครึ่งกระดาษลังตามยาว จากนั้นใช้ดินสอวาดปีกนางฟ้าในรูปแบบที่ชอบ 1 ข้าง โดยให้กึ่งกลางของปีกนางฟ้านั้นอยู่ด้านสันกระดาษ แล้วใช้กรรไกรตัดออกมาจนเหลือที่ช่วงบริเวณที่ให้เชื่อมติดกันด้านบนตามภาพ
  2. ใช้กระดาษลังความยาวประมาณ 4×16 เซนติเมตรนำมาติดกับยางยืดเส้นเล็กทั้ง 2 เส้นตามภาพ โดยวัดให้ห่างออกมาจากกึ่งกลางกระดาษข้างละ 2 เซนติเมตร แล้วนิดไปติดกับฐานปีกนางฟ้าที่เราได้จากข้อที่ 1

ขน

เมื่อได้ตัวฐานแล้วให้เราพักไว้ก่อน รอให้กาวแห้ง ระหว่างรอกาวแห้งนั้น เรามาทำขนปีนางฟ้ากัน ขนปีกนางฟ้ามีทั้งหมด 3 ขนาด เรียงลำดับ ใหญ่-กลาง-เล็ก วิธีการทำคล้ายกัน ต่างกันเพียงวิธีการพับกระดาษเพื่อให้ได้ขนาดตามต้องการเท่านั้น

ขนาดใหญ่

นำกระดาษหน้าเดียวมาพับครึ่งตามขวางไปเรื่อยๆ 3 ครั้ง แล้วจับกระดาษให้ด้านสันอยู่ด้านในมือ ให้ด้านที่มีหลายทบอยู่ด้านนอก แล้วใช้กรรไกรตัดริมด้านหลายทบนั้นออก ด้านบนและล่างตัดเจียนให้เป็นมุมแหลมด้านหนึ่ง มุมป้านด้านหนึ่ง จากนั้นใช้กรรไกรตัดแต่งตรงขอบโดยรอบ ตรงนี้จะทำให้เกิดความพลิ้วไหวของปีก สามารถเลือกได้ว่าจะทำให้มีมุมแหลม โค้ง หรือเหลี่ยมได้ตามใจชอบ กระดาษ 1 แผ่นจะทำได้ 4 ชิ้น ให้ทำทั้งหมด 12 ชิ้น

ขนาดกลาง

นำกระดาษหน้าเดียวมาพับครึ่งตามแนวขวาง แล้วตัดแบ่งครึ่ง จากนั้นนำกระดาษที่ได้มาพับเป็นสามส่วน เมื่อได้ขนาด 1 ใน 3 แล้ว ให้พับครึ่งอีกที แล้วตัดและตกแต่งให้เหมือนกับชิ้นใหญ่ กระดาษเอสี่เมื่อตัดครึ่งแล้วจะทำขนปีกนางฟ้าได้ 3 ชิ้น ให้ทำทั้งหมด 36 ชิ้น

ขนาดเล็ก

นำกระดาษหน้าเดียวมาพับครึ่งตามแนวยาว แล้วตัดแบ่งตามรอยพับ เมื่อได้แล้วให้นำกระดาษที่ตัดแบ่งแล้วมาพับครึ่งไปเรื่อยๆ 3 ครั้ง แล้วจึงตัดตกแต่งให้เหมือนกับขนาดใหญ่และขนาดกลาง ขนาดเล็กนี้เมื่อตัดแล้วจะได้ครึ่งละ 4 ชิ้น ให้ทำทั้งหมด 52 ชิ้น

สำหรับจำนวนชิ้นนั้น หากต้องการความหนาของปีกนางฟ้าเพิ่มมากขั้นสามารถเพิ่มจำนวนชิ้นของปีกนางฟ้าขนาดต่างๆ ได้ตามอัธยาศัย

ประกอบ

เมื่อได้ทั้งฐานและชิ้นปีกนางฟ้าครบแล้ว คราวนี้ก็มีถึงขั้นตอนที่สนุกที่สุดในการทำปีนางฟ้า นั่นก็คือ ช่วยกันแปะขนลงไปบนฐานของปีกนางฟ้า โดยการคว่ำฐานปีนางฟ้า ในฝั่งที่มียางยืดอยู่ทางด้านล่าง แล้วแปะขนปีกอีกด้าน โดยเริ่มจากขนใหญ่สุดที่ด้านล่างสุดของปีก โดยให้แบ่งจำนวนปีกเท่าๆ กันทั้งสองฝั่ง และไล่ขึ้นมาเป็นขนปีกขนาดกลาง เมื่อขึ้นมาด้านบนก็ให้ใช้ขนปีกขนาดเล็ก โดยแปะตามมุมเฉียงขึ้นตามภาพ เมื่อคุณพ่อคุณแม่คุณลูกช่วยกันแปะขนลงไปบนฐานปีกนางฟ้าจนเต็มมองไม่เห็นฐานแล้ว รอให้แห้ง ก็เป็นอันเสร็จ สามารถในมาใส่เล่นได้เลย

เป็นที่รู้กันดีว่า การประดิษฐ์ของเล่นเล็กๆ น้อยๆ เล่นกันเองภายในบ้านนั้น ช่วยเสริมสร้างทักษะของเด็กทั้งทางร่างกาย สมอง และจิตใจซึ่งมาจากการได้เพิ่มพูนความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันในครอบครัว แต่เมื่อมองจากสภาพสิ่งแวดล้อมในตอนนี้ การเพิ่มทักษะการรักษาและดูแลสิ่งแวดล้อมเข้าไปให้เด็กๆ ด้วย ก็จะยิ่งดีขึ้นกับเขาเองเมื่อพวกเขาเติบใหญ่ และหากจะมองประโยชน์ที่ได้ในตอนนี้เลยก็คือ ได้หลีกเลี่ยงสภาวะอากาศที่แปรปรวนและเป็นมลพิษอย่างเช่น ฝุ่น PM2.5 ที่ประเทศวัดได้ในระดับสูงจนติดอันดับโลก

แต่กิจกรรมภายในบ้าน เด็กๆ จะปลอดภัยภายใต้สายตาของผู้ปกครองและยังเล่นสนุกได้เต็มที่โดยไม่ต้องกังวลกับสภาพอากาศ และเชื่อมั่นว่าหากปลูกฝังเขาให้เติบโตมาด้วยใจที่เชื่อว่าควรรักษ์โลกเข้าไว้ตั้งแต่วันนี้ เมื่อเขาโตขึ้นก็ไม่อาจจะไม่ต้องทนกับสภาพอากาศแย่ๆ อีกต่อไปแล้ว

เล่นสร้างสุข สนุกเรียนรู้

เมื่อเด็กได้เล่น โลกภายในของเด็กจะเปลี่ยน เกิดความสุข จินตนาการเชื่อมโยงปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอกอย่างไร้ขอบเขต ก้าวข้ามพรหมแดนความแตกต่าง ก่อเกิดความรักเอื้อเฟื้อแบ่งปัน รู้สึกมั่นคงและออกแบบสังคมเล็กๆ ที่เป็นความสุขด้วยตัวเองเป็น 

การเล่นอิสระของเด็กๆยังช่วยพัฒนา EF ได้ เพราะทักษะการบริหารจัดการตนเองขั้นสูง(EF) หรือ Executive Functions เป็นกระบวนการทางความคิดระดับสูงของสมองส่วนหน้าที่เกี่ยวข้องกับความคิด ความรู้สึก และการกระทำ เป็นทักษะที่ทุกคนต้องใช้และมีอิทธิพลต่อความสำเร็จในชีวิต สามารถพัฒนาได้ด้วยการฝึกฝนและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงเวลาที่ดีที่สุด คืออายุ 4 – 6 ขวบ

การเล่นจึงเป็นพื้นฐานที่สำคัญต่อการเรียนรู้ ส่งผลต่อความสำเร็จด้านการเรียน และสามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอนาคต 

โดยธรรมชาติมุมมองของเด็ก “ทุกอย่าง คือ ของเล่น”

บทบาทหนึ่งของผู้ใหญ่คือการสร้างสรรค์ของเล่นจากวัสดุที่หาได้ในบ้านรอบตัว และในธรรมชาติมาประดิษฐ์เป็นของเล่นให้เด็ก หรือมาทำของเล่นร่วมกันกับเด็ก เป็นจุดเริ่มต้นของการให้เด็กได้ต่อยอดจิตนาการ

สำคัญคือ ผู้ใหญ่ต้องตระหนักว่าการเล่นสำคัญมากต่อชีวิตเด็ก เป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ตัวเอง และโลกใบนี้ด้วยตัวเขาเอง ผู้ใหญ่ต้องให้โอกาสเด็กได้เล่นอิสระ

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้และ นโยบายในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า