“เพชรบุรีดีจัง” ยกระดับภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน

จับมือชุมชนพัฒนา “ถนนคนเดินมีชีวิต” เปิดพื้นที่เรียนรู้อย่างสร้างสรรค์

“เพชรบุรี” นอกจากจะได้รับการขนานนามว่า “เมือง 3 รส” ยังได้รับการยกย่องให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารของ UNESCO และเป็นแหล่งรวมสกุลช่างฝีมือศิลปะโบราณหลากหลายประเภท ที่มีการสืบทอดศิลปะและภูมิปัญญามาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา อาทิ งานปูนปั้น ช่างทอง สลักไม้ แทงหยวก เขียนลายผ้าโบราณ งานเขียนลายรดน้ำ และงานจำหลักหนังใหญ่

กิจกรรมหนังตะลุงที่วัดใหญ่สุวรรณาราม

แต่ภูมิปัญญาสกุลช่างเมืองเพชรอันทรงคุณค่าเหล่านี้ ในช่วงเวลาหนึ่งกลับขาดคนรุ่นใหม่มาสานต่อ เพราะรูปแบบของการจัดการศึกษาในช่วงนั้นให้ความสำคัญกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ จนหลงลืมรากเหง้า ในพื้นที่บ้านเกิดของตนเองไปอย่างน่าเสียดาย

ครูจำลอง บัวสุวรรณ์

ในขณะนั้น “จำลอง บัวสุวรรณ์” ยังรับราชการครูมองเห็นปัญหาว่า สิ่งที่เด็กๆ ได้เรียนในโรงเรียนไม่สามารถนำมาใช้ในชีวิตได้ และไม่ว่าจะเรียนเก่งขนาดไหนก็ไม่สามารถตอบคำถามที่เกี่ยวกับเรื่องราวใกล้ตัวในท้องถิ่นได้ จึงมองเห็นโอกาสในการเรียนรู้เริ่มต้นจากการทำโครงการ “ยุววิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่น” สืบค้นรวบรวมภูมิปัญญาเมืองเพชร พบว่าสิ่งที่มีคุณค่าเหล่านี้กำลังจะเลือนหายขาดไปและการเชื่อมต่อจากคนรุ่นใหม่ จึงได้ก่อตั้ง กลุ่มลูกหว้า ขึ้นในปี 2549 สร้างทางเลือกใหม่ในการเรียนรู้ควบคู่ไปกับการสืบสานรักษาภูมิปัญญาศิลปะสกุลช่างเมืองเพชรที่ให้กับเด็กและเยาวชน

“กลุ่มลูกหว้าทำงานร่วมกับเครือข่ายแหล่งเรียนรู้ครูภูมิปัญญาพื้นบ้านในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่องเพื่อเชื่อมต่อองค์ความรู้ระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่โดยเน้นที่งานช่างเมืองเพชรและภูมิปัญญาท้องถิ่น จากนั้นก็ได้เข้าร่วมเป็นเครือข่ายพื้นที่นี้ดีจังและเปลี่ยนชื่อเป็นเพชรบุรีดีจังในปี 2553 เพื่อสื่อสารเรื่องราวดีๆ ของเราออกไปให้คนภายนอกได้รับรู้ และสืบสานภูมิปัญญาเมืองเพชรด้วยการทำให้คนที่มีองค์ความรู้และต้องการที่จะถ่ายทอดความรู้ได้มาเจอกับคนที่ต้องการมาเรียนรู้”

การแสดงละครชาตรี

“เพชรบุรีดีจัง” เป็นหนึ่งใน “เครือข่ายพื้นที่ดีจัง” ที่ร่วมกันขับเคลื่อนพื้นที่เรียนรู้อย่างสร้างสรรค์มานานกว่า 10 ปี โดยการสนับสนุนของ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) และ สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก4) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)  โดยนำเอางานศิลปะหัตกรรมตัดกระดาษเพื่อใช้ประดับในงานบุญเทศกาลต่างๆที่เรียกว่า “พวงมโหตร” มาเป็นเครื่องมือตัวแรกที่ใช้สื่อสารกับคนภายนอก และดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ร่วมกิจกรรมที่ สถานีดีจัง ในการสร้างความสุขสนุกไปกับเรียนรู้โดยเชื่อมโยงกับภูมิปัญญาเชิงช่างสาขาต่างๆ ได้อย่างลงตัว โดยได้รับความอนุเคราะห์พื้นที่จาก บริษัท เพชรบุรีท่องเที่ยว พัฒนา จำกัด เปิดให้เป็นพื้นที่เรียนรู้และจัดกิจกรรมสำหรับเด็กและเยาวชน ณ สถานีรถรางเขาวังเคเบิลคาร์

นอกจากนี้ยังได้เปลี่ยนพื้นที่กุฏิเก่าที่ถูกทิ้งร้างของวัดใหญ่สุวรรณาราม ให้กลับมาเป็นพื้นที่เรียนรู้สืบสานศิลปะสกุลช่างเมืองเพชรในชื่อ “หอศิลป์สุวรรณาราม” เพื่อให้นักท่องเที่ยวหรือผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้การตอกลายฉลุปิดทอง ที่นำต้นแบบจากเสาไม้ของศาลาการเปรียญสมัยกรุงศรีอยุธยามาประยุกต์เป็นกิจกรรมการทำภาพพิมพ์ลายกระเป๋าผ้า ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับกลุ่มลูกหว้าจากการออกแบบการเรียนรู้ได้อย่างสนุก นักท่องเที่ยวได้ความสุข และได้ของที่ระลึกกลับบ้าน

ปัจจุบันกลุ่มลูกหว้ามีรายได้จากการจากกิจกรรมดินปั้นเซรามิก วาดเพ้นท์พิมพ์ เป๋าผ้าฉลุลาย และอีกส่วนหนึ่งจากการจำหน่ายสินค้าที่ผลิตขึ้นมาเองและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของเครือข่าย รวมไปถึงการจัดกิจกรรมนอกสถานที่ การเป็นวิทยากรให้ความรู้ในเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับจังหวัดเพชรบุรี โดยมีเด็กและเยาวชนที่เติบโตขึ้นมาจากทำกิจกรรมกับเราตั้งแต่ช่วงแรกๆ ขึ้นมาแกนนำขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ภายใต้แนวคิด 3 ส. สื่อสาร สร้างสรรค์ และมีส่วนร่วม  และยังเป็นนักออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายของเครือข่ายต่างๆ โดยมุ่งเน้นให้เกิดการเรียนรู้ในทุกๆ เรื่องด้วยความสนุกและน่าสนใจ

ครูจำลองเล่าถึงการทำงานของกลุ่มลูกหว้า
ถนนมีชีวิตพานิชเจริญ

ล่าสุดกลุ่มลูกหว้าและเครือข่ายเพชรบุรีดีจัง ได้ร่วมกับเทศบาลเมืองเพชรบุรี ชุมชนและผู้ประกอบการร้านค้าสองข้างทางของถนนพานิชเจริญ ปิดถนนในทุกวันเสาร์ในช่วง 17.00-21.00 น. เพื่อใช้เป็นถนนคนเดินในชื่อ “ถนนมีชีวิต พานิชเจริญ เปิดหมวก” ที่มีรูปแบบต่างไปจากที่อื่น คือเป็นการเปิดพื้นที่เรียนรู้ พื้นที่ทางความคิด พื้นที่แสดงออกสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว กิจกรรมรวมแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาเมืองเพชรและเครือข่าย ที่สลับกันจัดกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอ ชวนคนในชุมชนและร้านค้าสองข้างทางเปิดบ้านขายของสร้างรายได้ให้กับชุมชน เชื่อมโยงให้ชาวเพชรบุรีเห็นว่าภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรม และการเรียนรู้ นั้นสามารถขับเคลื่อน ยกระดับ และพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดได้

สุนิสา ประทุมเทือง

สุนิสา ประทุมเทือง “หนูแดง” แกนนำกลุ่มลูกหว้า เล่าว่า ถนนพานิชเจริญเป็นพื้นที่ที่ทำงานกับชุมชนเรื่องพื้นที่เรียนรู้ในเรื่องงานปูนปั้น ร้านทอง ย่านค้าข้าว ขนมหวาน ชุมชนเก่าริมแม่น้ำเพชรฯลฯ เมื่อเทศบาลเมืองเพชรบุรีมีแนวคิดจัดถนนคนเดิน กลุ่มลูกหว้าจึงได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการออกแบบให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชนโดยใช้ศิลปวัฒนธรรมภูมิปัญญาเมืองเพชรและการแสดงเปิดหมวกเป็นเครื่องมือสื่อสารและพื้นที่แสดงออกของเด็กๆ

“ถนนคนเดินมีกิจกรรมเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมสำหรับคนทุกเพศวัย มีการระบายสีเขียนป้ายผ้าที่มีหัวข้อเกี่ยวกับชุมชนในย่านนั้นๆ มีพื้นที่ Kids Zone ให้เด็กๆ ได้เล่นอย่างอิสระ มีพื้นที่วาดรูป ระบายสี ทำของเล่น มีการทำพวงมโหตร ภาพพิมพ์ การเพ้นท์ฉลุลายผ้า การทำหุ่นเงาลายฉลุ เปิดโซนตลาดเล็ก-กะ-สิ(Legacy) เพื่อจำหน่ายสินค้าภูมิปัญญาท้องถิ่นของกินของใช้และหัตกรรมพื้นบ้านจากเครือข่ายต่างๆ ในจังหวัด และมีโซนเมืองช่างแห่งสยาม มีการแสดงพื้นบ้านอย่างละครชาตรี หนังตะลุง และกิจกรรมต่างๆ จากเครือข่ายเพชรบุรีดีจังหมุนเวียนเข้ามาจัดกิจกรรม”

“ครูแดง” ชมพูนุช ประเสริฐจิตร์

“ครูแดง” ชมพูนุช ประเสริฐจิตร์ ครูภูมิปัญญาพื้นบ้านด้านผ้ามัดย้อมไม้โกงกางจากบางตะบูน อำเภอบ้านแหลม ที่ชักชวนเด็กๆ ในชุมชนมาร่วมกันสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นควบคู่ไปกับการดูแลรักษาอนุรักษ์ธรรมชาติของผืนป่าชายเลนมานานกว่า 20 ปีเล่าว่า ปกติถนนคนเดินมักจะมีแต่การขายของ แต่ที่ถนนพานิชเจริญนั้นแตกต่าง เป็นถนนคนเดินที่มีสีสันและความสนุกจากกิจกรรมต่างๆ ทำให้ถนนแห่งนี้เป็นถนนคนเดินที่มีชีวิต สามารถสร้างการมีส่วนร่วมจากผู้คนที่มาเดินได้เป็นอย่างดี ร้านค้าต่างๆ ในชุมชนก็ขายของได้ดีขึ้น และยังช่วยให้เกิดการถ่ายทอดกระจายองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นของเมืองเพชรบุรีออกไปสู่บุคคลภายนอกได้อีกด้วย

บงกช เศวตามร์

บงกช เศวตามร์ จากศูนย์การเรียนนวัตกรรมเพื่อความสุข ที่ได้นำเครือข่ายที่ออกแบบหลักสูตรและจัดการเรียนรู้โดยครอบครัวมาศึกษาดูงานพื้นที่เรียนรู้ต่างๆ ของเครือข่ายเพชรบุรีดีจังกล่าวว่า เพชรบุรีนั้นมีความร่ำรวยในทุกๆ เรื่องซึ่งในหลักสูตรของเราเด็กๆ จะเรียนรู้จากสิ่งที่จับต้องได้ใกล้ตัว โดยจะต้องมองให้เห็นรายละเอียด และสามารถเชื่อมโยงย้อนกลับมามองเห็นในภาพใหญ่ได้

“เช่นการพาเด็กไปทำว่าวที่นาบุญข้าวหอมเครือข่ายพื้นที่เรียนรู้ของเพชรบุรีดีจัง การที่เด็กได้ลงมือทำ ทำให้เด็กสามารถเรียนรู้และอธิบายได้ว่าว่าวสามารถบินขึ้นไปบนฟ้าได้อย่างไร หรือจะแก้ไขอย่างไรหากว่าวไม่สามารถขึ้นบินได้ ซึ่งหากมองผิวเผินก็เป็นแค่เรื่องสนุก แต่ในความสนุกนั่นคือการเรียนรู้เชิงฟิสิกส์ที่พวกเขาสามารถเรียนรู้ได้ตั้งแต่วัยประถม”

ทำพวงมโหตรที่ถนนคนเดิน

 “เพชรบุรีดีจังคือพื้นที่ที่ไม่ว่าจะไปตรงไหนก็จะมีแต่สิ่งดีๆ ที่เด็กๆ สามารถเรียนรู้ได้ เป้าหมายของเราคือต้องการให้พื้นที่ทุกตารางนิ้วเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ โดยกลุ่มลูกหว้าได้ร่วมกับเครือข่ายแหล่งเรียนรู้กว่า 30 แห่ง ออกแบบกิจกรรมเพื่อเติมเต็มการเรียนรู้ในเรื่องต่างๆ ที่ไม่มีการสอนในโรงเรียน ช่วยเสริมสร้างทักษะ จิตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ และช่วยสร้างให้เกิดความสัมพันธ์ในครอบครัวจากการออกแบบกิจกรรมให้พ่อแม่ลูกได้ช่วยกันทำ ซึ่งถนนมีชีวิต พานิชเจริญฯ ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของสื่อสารให้คนในชุชนและหน่วยงานในพื้นที่ได้เห็นความสำคัญของพื้นที่เรียนรู้ เป็นการเปิดพื้นที่เรียนรู้ออกไปสู่ชุมชน โดยใช้ภูมิปัญญาและศิลปะสกุลช่างเมืองเพชรเป็นเครื่องมือในการสื่อสารและสร้างสรรค์เศรษฐกิจให้กับชุมชนไปพร้อมกัน” หนูแดง แกนนำกลุ่มลูกหว้าระบุ

วาดระบายสีป้ายผ้าสร้างการมีส่วนร่วม

เพชรบุรีดีจัง และ กลุ่มลูกหว้า จึงนับได้ว่าเป็นพลังของคนรุ่นใหม่อันเป็นผลผลิตของการขับเคลื่อนการทำงาน “พื้นที่เรียนรู้” ในพื้นที่มาอย่างยาวนาน พร้อมกับใช้พลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ นำไปสู่การออกแบบกิจกรรมเพื่อสร้างการเรียนรู้ในเรื่องราวต่างๆ อันทรงคุณค่าควบคู่ไปกับความสนุก ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นของเมืองเพชรไม่ให้ถูกลบเลือนหาย พร้อมกับพิสูจน์ให้เห็นว่าภูมิปัญญาพื้นบ้านและศิลปะสกุลช่างเมืองเพชรบุรี ไม่ได้เป็นแค่ของเก่า แต่เป็นเครื่องมือที่สามารถเชื่อมโยงการเรียนรู้เข้ากับการพัฒนาเศรษฐกิจให้กับชุมชนได้ด้วยเช่นกัน.

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้และ นโยบายในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า