“เมื่อเด็กได้เล่น สมองจะเปิด และเกิดการเรียนรู้ในทุกๆ เรื่องได้ดีที่สุด”
เพราะเชื่อมั่นในแนวคิดดังกล่าวทางคณะครูและผู้ดูแลเด็กของ ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนชุมชนราษฎร์พัฒนา สำนักงานเขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร จึงได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการเรียนรู้และการดูแลเด็กปฐมวัยอายุ 3-6 ปี ในแต่ละวันให้กลายเป็นเรื่องสนุกมาตั้งแต่ปี 2562 เปลี่ยนวิชาการให้เป็นความสุข ใช้ความสนุกจากการเล่นของเด็กๆ เป็นเครื่องมือนำพาไปสู่การเรียนรู้ในเรื่องต่างๆ อย่างสร้างสรรค์ ทำให้ทุกๆ เช้าของเด็กนักเรียนตัวน้อยกว่า 200 ชีวิตจะได้ยินคำพูดติดปากจากผู้ปกครองที่มาส่งที่หน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแห่งนี้ว่า “มาโรงเรียนเล่นให้สนุกนะลูก” จากปกติที่เคยจะได้ยินแต่คำว่า “ตั้งใจเรียนนะลูก”
ซึ่งความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังการเข้าร่วมเป็น เครือข่าย “เล่นเปลี่ยนโลก” ที่ขับเคลื่อนโดย มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก(มพด.) สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน(สสย.) โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. เพื่อขับเคลื่อนการสร้างความตระหนักเรื่องการเล่น ใช้การเล่นอิสระเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเด็กและเยาวชนในทุกมิติ และสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันครอบครัว
สำหรับจุดเด่นในการจัดการเรียนรู้และดูแลเด็กของศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนชุมชนราษฎร์พัฒนา ที่นอกจากจะมุ่งเน้นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเล่นอิสระในเด็กปฐมวัยแล้ว ยังดำเนินการควบคู่กับไปการอบรมทำความเข้าใจให้ความรู้กับผู้ปกครองตั้งแต่วันแรกของการรับเด็กเข้าเรียน ให้ตระหนักและเข้าใจถึงคุณค่าของการเล่นที่เป็นธรรมชาติของเด็กและเป็นพื้นฐานที่สำคัญของชีวิต เพราะนำไปสู่การสร้างเสริมพัฒนาการที่ดีขึ้นกับเด็กปฐมวัยครบทั้ง 4 ด้าน ทั้งด้านร่างกาย ด้านอารมณ์และจิตใจ ด้านสังคม และด้านสติปัญญา
ครูซุพยาณี มูซอ หัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนชุมชนราษฎร์พัฒนา กล่าวว่า นอกจากทุกวันจะเป็นวันเล่นอิสระของเด็กๆ แล้วในแต่ละเดือนก็จะมีกิจกรรมใหญ่ที่เด็กๆ ต่างรอคอยคือ “Play Day วันเล่นสนุก” โดยจะเปิดพื้นที่เรียนรู้ผ่านโซนหรือฐานกิจกรรมต่างๆ อาทิ โซนเล่นสนุกกิจกรรมกลางแจ้ง โซนศิลปะระบายสีโดยใช้วัสดุจากธรรมชาติ โซนเล่นกับธรรมชาติดิน ไม้ ทราย น้ำ โซนเล่นสนุกกับวิทยาศาสตร์ หรือโซนการเล่นแบบ Loose Parts หรือการเล่นกับวัสดุ สิ่งของ ชิ้นส่วนต่างๆ ทั้งที่เป็นของจากธรรมชาติหรือสิ่งของที่สามารถถอดออกหรือนำมาต่อติดประกอบเล่นด้วยกันได้ โดยเด็กๆ สามารถเลือกที่จะ เล่น เรียน รู้ และสนุกกับกิจกรรมต่างๆ ได้ความสนใจของตนเอง โดยจะมีครูและผู้ปกครองร่วมทำหน้าที่เป็น Play Worker หรือผู้อำนวยการเล่น คอยสนับสนุนให้เกิดการเล่นอย่างปลอดภัย เปิดโอกาสให้จินตนาการของเด็กๆ นำพาไปสู่การเรียนรู้ในเรื่องต่างๆ ด้วยตัวของเขาเอง
“การเล่นเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างพื้นฐานที่ดีที่สุดของมนุษย์ตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่จะเติบโตขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต เพราะเด็กทุกคนไม่สามารถย้อนเวลากลับมาเป็นเด็กได้อีกครั้ง เราจึงต้องให้ความสำคัญกับธรรมชาติของเด็กและความต้องการของเด็กในช่วงวัยนี้ก็คือการเล่นนั่นเอง เพราะเมื่อเด็กๆ ได้เล่น เขาก็จะมีความสุข สมองของเขาก็พร้อมที่จะเปิดรับในเรื่องราวต่างๆ และจะเกิดการเรียนรู้ในทุกๆ เรื่องได้ดีที่สุด”
ครูซุพยาณีระบุ
อภิศิริ ยอดเวียน ผู้ปกครองของน้อง “นาบี๊ล” ชั้นอนุบาล 2 ที่อาสามาเป็น Play Worker หรือผู้อำนวยการเล่น ในโซนเรียนรู้เล่นกับธรรมชาติดิน ไม้ ทราย น้ำ เล่าว่า การเล่นนั้นมีความสำคัญมากถ้าเราลองสังเกตจะเห็นว่าเด็กๆ ทุกคนจะมีความสุขที่ได้เล่น มีจินตนาการ และมีอิสระทางความคิด
“ครั้งแรกที่พาลูกมาเข้าเรียนก็จะมีการให้ความรู้กับผู้ปกครองทุกคน จนเข้าใจว่าการเล่นนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับเด็กในวัยนี้มากกว่าการเรียน ซึ่งก็ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคือ ลูกมีพัฒนาการต่างๆ ที่ดีขึ้นทั้งด้านกล้ามเนื้อ อารมณ์ ความคิด การลำดับเหตุการณ์ การวางแผน มีระเบียบวินัย ในการเล่นของเล่นเมื่อเล่นแล้วก็เก็บของเอง จริงๆ แล้วอยากบอกว่าเรื่องวิชาการนั้นพ่อแม่สามารถสอนเสริมให้กับเด็กๆได้ แต่เด็กในวัยนี้ถ้าเลือกได้อยากให้เขาได้เล่นมากกว่า” แม่น้องนาบี๊ล กล่าว
อรุณี นนทโกวิท ผู้ปกครองของน้อง “ฮามีม” ชั้นอนุบาล 3 ที่มีความชอบในเรื่องของเย็บปักถักร้อยก็ใช้ความถนัดของตัวเองมาเป็นผู้อำนวยการเล่นในโซนการเล่นแบบ Loose Parts เล่าว่า หลังจากที่ได้เข้าร่วมอบรมเป็นผู้อำนวยการเล่น ทำให้ทราบว่าการเล่นนั้นมีคุณค่ามหาศาลสำหรับเด็กในช่วงวัยนี้ สามารถกระตุ้นให้เกิดพัฒนาการได้ครบทุกด้าน ฝึกสมาธิ มีความอดทน รู้จักที่จะรอคอย เมื่อให้ลูกได้เล่นพบว่าเขามีพื้นฐานทางอารมณ์ที่ดีซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญสำหรับอนาคต
“พื้นฐานความรู้ของเด็กนั้นมาจากพ่อแม่ ดังนั้นพ่อและแม่คือเพื่อนเล่นที่ดีที่สุดของลูกเมื่ออยู่ที่บ้าน การเล่นอิสระที่บ้านช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกดีขึ้น เด็กในวัยนี้เราควรสนับสนุนให้เขาได้เล่นอย่างเต็มที่ เนื่องวัยเด็กนั้นมีเวลาที่มีจำกัดเพียงแค่ไม่กี่ปี การเล่นของเด็กปฐมวัยคือการลงทุนที่คุ้มค่าเพื่อให้เด็กๆ ได้เติบโตมีพัฒนาการครบทุกด้านและเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะนำไปสู่ความพร้อมทางด้านวิชาการต่อไปได้” แม่น้องฮามีม ระบุ
ซึ่งผลลัพธ์ของการจัดการเรียนรู้ด้วยการเล่นอิสระนั้น แม้ว่าความสุขและการเรียนรู้อาจจะวัดผลให้เห็นภาพได้ไม่ชัด แต่สำหรับการประเมินพัฒนาการตามหลักของกรมอนามัยนั้นพบว่าเด็กเมื่อแรกรับเข้ายังศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนชุมชนราษฎร์พัฒนาพบว่ามีพัฒนาการต่ำกว่าเกณฑ์ถึงร้อยละ 79 แต่เมื่อได้เล่นอิสระผ่านไปไม่ถึงปีพัฒนาการของเด็กๆ ก็ผ่านเกณฑ์ประเมินได้สูงถึงร้อยละ 98
ครูสุกัญญา เย็นประสิทธิ์ ครูพี่เลี้ยงและ Play Worker กล่าวว่า ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนชุมชนราษฎร์พัฒนาให้ความสำคัญกับการเล่นอิสระโดยผู้ปกครองมีส่วนร่วม การสอนในอดีตแต่ละวันจะมีกิจกรรมกลางแจ้งให้เด็กได้ออกมาเล่นประมาณ 20 นาทีเท่านั้น แต่เมื่อปรับการเรียนรู้ผ่านการเล่นอิสระเด็กๆ ก็จะมีเวลาเล่นอิสระมากขึ้นตั้งแต่ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง และในชั้นเรียนครูก็จะใช้การเล่นแล้วบูรณาการสอดแทรกเนื้อหาเพื่อสร้างการเรียนรู้ในเรื่องต่างๆ เข้าไปด้วย
“การเล่นของเด็กคือชีวิตคือการเติบโตของเด็ก เด็กเปรียบเสมือนต้นกล้า ต้นกล้าจะแข็งแรงได้ต้องเกิดจากสิ่งรอบตัวและการเรียนรู้ในเรื่องต่างๆ ไม่ใช่เฉพาะแค่เรื่องวิชาการ ลองนึกดูว่าทำไมเราจำการเล่นสนุกต่างๆ ในวัยเด็กได้ ก็เพราะการเล่นเป็นความสุขที่ฝังรากลึกในใจ การเล่นจึงไม่ได้เป็นเรื่องไร้สาระ การเล่นสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้เพราะการเล่นทำให้เด็กมีความสุข มีพื้นฐานทางอารมณ์ที่ดี และเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถจัดการกับทุกอย่างในชีวิตได้” ครูสุกัญญา กล่าวย้ำ
โดยผลสำเร็จของการจัดการเรียนรู้ผ่านการเล่นอิสระของศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนชุมชนราษฎร์พัฒนานั้นเกิดขึ้นจากการทำให้ครูผู้ดูแลเด็กทุกคน “เปิดใจและเชื่อมั่นในพลังแห่งการเล่น” บนเป้าหมายเดียวกัน พร้อมกับดึงผู้ปกครองเข้ามาเป็น “ครอบครัวแห่งการเล่น” และเป็น “Play Worker” ให้มีความเข้าใจและสามารถสอดแทรกการเรียนรู้ในเรื่องต่างๆได้ เพื่อสนับสนุนการจัดกิจกรรมต่างๆ มี “กิจกรรมเยี่ยมบ้าน” สนับสนุนจูงใจให้ผู้ปกครอง “จัดมุมเล่นอิสระที่บ้าน” เพื่อให้เกิดพัฒนาการที่ต่อเนื่องจากโรงเรียนไปถึงที่บ้าน และยังช่วยสานสัมพันธ์ครอบครัวให้ดียิ่งขึ้นด้วยการ เล่น-เรียน-รู้ ผ่านกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันของครบครัวไปพร้อมกัน จนเกิดเป็นเครือข่ายครู ผู้ปกครองและชุมชน ที่เห็นความสำคัญของการพัฒนาเด็กปฐมวัยด้วยการเล่นอิสระ และพร้อมสนับสนุนการทำกิจกรรมต่างๆ อย่างเข้มแข็ง
โดยล่าสุดแนวคิดในการจัดการเรียนรู้ผ่านการเล่นอิสระกำลังถูกต่อยอดขยายผลโดยมีศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนชุมชนราษฎร์พัฒนาเป็นต้นแบบพื้นที่เรียนรู้เพื่อขยายแนวคิดออกไปสู่ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนทั้ง 22 แห่งในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานเขตมีนบุรี
“ทั้งหมดเกิดขึ้นจากการที่ครูทุกคนเป็นต้นแบบการจัดการเรียนรู้ที่ใช้การเล่นนำเรียน การมีเครือข่ายผู้ปกครองและชุมชนที่เข้าใจการเล่น สร้างการเรียนรู้ผ่านการเล่นกับลูกได้ พร้อมให้การสนับสนุน และบอกกับครูทุกคนเสมอว่า เราอยู่กันด้วยศรัทธามีศาสนานำทางชีวิต เพราะเราไม่ได้เป็นข้าราชการ ไม่มีสวัสดิการ ดังนั้นให้คิดว่าสิ่งที่ทุกคนทำอยู่เป็นการทำบุญกับเด็ก ถึงจะไม่มีใครเห็นแต่พระเจ้าทรงเห็น”
ครูชุพยาณีกล่าวสรุป