ปิดเทอมเป็นช่วงเวลาที่มีค่าที่สุดของเด็กนักเรียน นักศึกษา เพราะนอกจากจะมีเวลาพักผ่อนสมองแล้ว ช่วงเวลาดังกล่าวมีเด็กหลายคนทำให้ช่วงเวลานี้ “มีค่า” ขึ้นมาอีกด้วย
นั่นก็คือ การไปฝึกงานและทำงานพิเศษ ซึ่งทำให้ได้ทั้ง “เงิน” ได้ทั้ง “ความรู้” เวลาปิดเทอมจึงมีมูลค่าขึ้นมาทันที
ตัวอย่างที่เราจะไปพูดคุยกัน คนแรก
“ดิว” น.ส.นภัสสร พลูช่วย
นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาการกระจายเสียงและแพร่ภาพ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ได้ฝึกงานที่สถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่ง อยู่ในทีมเขียนบท บอกว่า
การฝึกงานคือการท้าทายตัวเอง ว่าสิ่งที่ตัวเองเรียนมา สามารถนำมาทำงานได้จริงหรือไม่ ก่อนฝึกเรามั่นใจประมาณ 50-80 % ไม่ได้เต็ม 100% ดังนั้น ก็เลยอยากมาพิสูจน์ตัวเองและที่สำคัญคือหากเราได้ลองทำ แต่เกิดไม่ชอบ หรือทำแล้วไม่ได้อะไรเพิ่ม ก็ไม่ใช่ทางตรงนี้
เรามีโอกาสได้เขียนซิทคอม ทั้งทีส่วนตัวไม่ได้เป็นคนตลกอะไรมาก แต่พอต้องมาเขียนบทตลก เราก็ต้องทำให้ได้ เหมือนกับพี่ๆ คนอื่นที่พอเรามารู้จักตัวจริงของเขาก็ไม่ได้เป็นคนตลกขนาดนั้น แต่เขาก็กลับเขียนออกได้สนุกมากๆ ตรงนี้ก็ทำให้ทึ่งไปเลย แล้วก็เป็นแรงผลักดันให้เราต้องพยายามให้มากขึ้น
การมาฝึกงานเหมือนเป็นการเปิดโลกให้รู้ว่าการทำงานที่แท้จริง มันต่างจากที่เราจินตนาการเอาไว้มาก โลกการทำงานจริงต้องอดทนสูงมาก เราต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงให้ได้ เราต้องเข้าใจการทำงานเป็นทีมที่สูงมาก ประสบการณ์ทีได้เป็นสิ่งมีค่าที่ไม่สามารถหาได้จากในห้องเรียนหรือคลาสไหน ตำราก็ไม่มีบอก”
แนน น.ส.ชุติภรณ์ กอร่ม
นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะสถาปัตย์กรรมศาสตร์ สาขาออกแบบสื่อนวัตกรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่บอกไว้เหมือนกันว่า
ถ้าเราไม่ลองมาทำงานในบริษัท เราจะไม่รู้เลยว่าเวลาการทำงานจริงนั้นเป็นอย่างไรเหมือนหรือแตกต่างจากที่เรียนมาหรือเปล่า เพราะการทำงานมีบางอย่างที่ในห้องเรียนไม่ได้มีสอน การมาฝึกงานที่ให้เราได้เรียนรู้เทคนิควิธีลัดต่างๆ ในการทำงาน ซึ่งทำให้พบว่ามีหลายรูปแบบที่จะทำให้งานออกมาได้ด้วย
“สิ่งที่สำคัญคือเรื่องความอดทนและความเข้าใจในการทำงานกับลูกค้า ถ้าเป็นตอนเรียน อาจารย์อาจจะยืดหยุ่นหรือ หยวนๆ กับเราได้ แต่พอเป็นลูกค้าแล้ว ลูกค้าอยากได้อะไร เราก็ต้องทำให้ได้แบบเป๊ะๆ ไม่มีการยืดหยุ่น และต้องทำงานให้ได้อย่างที่ลูกค้าต้องการไม่ว่าเขาจะเปลี่ยนกี่ครั้งด้วย เรามองว่า การฝึกงานคือการเตรียมพร้อม ได้ประสบการณ์จริงและประสบการณ์ตรง”
การแชร์ประสบการณ์จากการฝึกงานเห็นได้ชัดเลยว่า หลายคนได้ความรู้กันมาเต็มๆ
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมันไม่ได้มีเท่านี้ บางคนยังกระเป๋าตุ๋งกันเลยทีเดียว เหมือนกับ น.ส.ปัทมนันท์ สังข์พงษ์
น.ส.ปัทมนันท์ สังข์พงษ์
นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนศรีบุณยานนท์ ทำงานพิเศษที่ร้านชาบูชิ สาขา เซ็นทรัลพลาซ่า เวสต์เกต
น้องบอกว่า ที่ทำงานเพราะนอกจากจะได้ประสบการณ์ หนูอยากหารายได้เสริม เพราะที่ผ่านมา เวลาอยากได้อะไรอยากซื้ออะไรเราก็จะเกรงใจที่บ้านไม่กล้าขอเงินเพื่อไปซื้อของที่อยากได้ ก็เลยคิดว่าถ้ามาทำงานพิเศษก็จะช่วยแบ่งเบาภาระที่บ้านได้อีกทาง
“แต่สิ่งที่ได้เรียนรู้กว่านั้นคือ ตอนที่คิดจะมาทำงาน เรามองว่า น่าจะโอเค. ทำได้ แต่พอมาทำงานจริงๆ แล้วก็รู้เลยว่าการทำงานที่แท้จริงมันทั้งหนักและเหนื่อยมาก ยิ่งบางวันที่ลูกค้าเยอะๆ หรือพนักงานลากันเยอะๆ คนทำงานก็จะน้อย เราก็จะเหนื่อยมาก ก็ต้องรับมือให้ได้ งานทุกงานไม่มีคำว่าสบาย และงานทุกงานย่อมให้ประสบการณ์แก่เรา”
ส่วนคำแนะนำที่อยากจะบอกเพื่อนๆ ทุกคนให้เตรียมพร้อมก่อนที่จะมาทำงานพิเศษก็คือ เตรียมร่างกายให้พร้อม ต้องทั้งแข็งแรงและอดทนให้มากๆ พร้อมเปิดรับการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ
นายพรชัย แจ้งบำรุง
นักเรียนชั้น ปวช.ปี 3 โรงเรียนวิทยาลัยตั้งตรงจิตร พณิชยการ ทำงานพิเศษอยู่ที่ร้านชาบูชิ เซ็นทรัลพลาซ่า เวสต์เกต
เล่าถึงการทำงานหารายได้พิเศษที่ร้านอาหารว่า นอกจากจะเป็นการหารายได้พิเศษแล้ว อีกส่วนหนึ่งก็เพื่อที่จะนำประสบการณ์ไปใช้ในการทำงานจริง ซึ่งพอมาทำก็มีทั้งเหนื่อยและสนุก และยังทำให้มีเพื่อนเยอะขึ้นด้วย และถ้าหากจะแนะนำเพื่อนที่อยากกจะมาลองฝึกงานเราอยากให้ลองศึกษาเรื่องราวงานที่เราจะทำก่อนว่าทำอะไร เพื่อเตรียมความพร้อม ที่สำคัญเลยก็คือ ต้องอดทนและตั้งใจทำงานให้มากๆ อย่าท้อถอย
คุณสาว สมฤดี ช่างเจริญ
เจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท มติชน มหาชน จำกัด
บริษัทฯ เรารับนักศึกษางานหลายรุ่น และให้ฝึกงานตามสาขาที่เรียนมาโดยทุกคนจะต้องผ่านการปฐมนิเทศเพื่อเรียนรู้กฎระเบียบทั่วไปของบริษัท เรียนรู้วัฒนธรรมองค์กร เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของเด็กหลายรุ่นหลายยุค พบข้อดีของเด็กแต่ละยุคที่ไม่เหมือนกัน เช่น เด็กยุคก่อนจะมีความอดทนสูง ขณะที่เด็กสมัยนี้ ฉลาดขึ้น เก่งเทคโนโลยี แต่ความอดทนอาจจะน้อยกว่า
คำแนะนำเบื้องต้นที่จะบอกน้องๆ ที่มาฝึกงานก็คือ เรื่องการตรงต่อเวลา ซึ่งเป็นเรื่องที่บริษัททุกบริษัทให้ความสำคัญเหมือนกันหมด คุณจะมาสายหรือส่งงานช้าไม่ได้ เหมือนคำพูดที่ว่า “เวลาเป็นเงินเป็นทอง” ซึ่งนักศึกษาบางคนยังไม่ตระหนักหรือเข้าใจในเรื่องนี้ บางคนก็ยังชิลล์สบายๆ อยู่ แต่เมื่อคุณทำงานจริงแล้วจะทำแบบนั้นไม่ได้เลย
อีกอย่างคือเรื่องของความอดทน มารยาท และการเอาใส่ใจในสิ่งที่ทำ อยากให้รู้จักสังเกตว่าใครทำอะไร ทำกันแบบไหน บางคนที่ทำตรงนี้ได้ดี แทบไม่ต้องบอกไม่ต้องแนะเขาก็เรียนรู้ได้เร็ว ซึ่งเป็นเรื่องดีเมื่อเวลาที่คุณไปทำงานจริง คุณก็จะพัฒนาและเติบโตได้เร็ว เด็กบางคนไม่ค่อยสนใจใส่ใจบางครั้งเอาแต่เล่นมือถือตรงนี้ก็อยากจะเตือนไว้ว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่ค่อยน่ารัก เมื่อเรามาแล้วเราก็ควรจะเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทุกอย่างให้เต็มที่เพราะเชื่อว่าพี่ๆ ทุกคนพร้อมที่จะให้คำแนะนำสั่งสอนก็อยากให้น้องๆ พร้อมที่จะเรียนรู้เช่นกัน.
ปิดเทอมนี่และปิดเทอมต่อไป หากใครคิดอยากให้เวลามีค่าก็ลองฝึกงานกันได้ โดยช่องทางที่จะทำให้เข้าถึงตำแหน่งงานช่วงปิดเทอม สามารถเข้าไปค้นได้ที่ www.ปิดเทอมสร้างสรรค.com ที่มีงานมากถึง 3,000 ตำแหน่งทั่วประเทศ และเปิดตลอดทั้งปีอีกด้วย
ให้ปิดเทอมนี้ เป็นปิดเทอมแห่งการสร้างสรรคกันดีกว่า