ย้อนกลับไปในช่วงเวลา ที่หลายคนจำต้องขาดรายได้ เพราะพิษโควิด แต่ เฟิร์ส-จิรัชญา ศรีสุวรรณ เฟรชชี่สาวอักษรฯ ในช่วงเวลานั้น กลับพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ใช้เวลาว่างจากการเรียนออนไลน์ ต่อยอดความรักในการค้าขาย สร้างรายได้เสริมให้กับตัวเอง…อะไรคือแรงบันดาลใจสำคัญ และเส้นทางการลองผิดลองถูกของเธอ ต้องพบเจอกับอะไรบ้าง วันนี้สาวเก่งเจ้าของแบรนด์ Summer Freaks พร้อมแล้วที่แชร์ประสบการณ์ให้เราฟัง
ย้อนกลับไปในช่วงเวลา ที่หลายคนจำต้องขาดรายได้ เพราะพิษโควิด แต่ เฟิร์ส-จิรัชญา ศรีสุวรรณ เฟรชชี่สาวอักษรฯ ในช่วงเวลานั้น กลับพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ใช้เวลาว่างจากการเรียนออนไลน์ ต่อยอดความรักในการค้าขาย สร้างรายได้เสริมให้กับตัวเอง…อะไรคือแรงบันดาลใจสำคัญ และเส้นทางการลองผิดลองถูกของเธอ ต้องพบเจอกับอะไรบ้าง วันนี้สาวเก่งเจ้าของแบรนด์ Summer Freaks พร้อมแล้วที่แชร์ประสบการณ์ให้เราฟัง
“Summer Freaks เป็นร้านเสื้อยืดที่ปักมือค่ะ เฟิร์สจะปักมือเองทุกตัว เพราะเป็นคนชอบปักผ้าอยู่แล้ว ตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม เพราะที่โรงเรียนราชินีจะมีคลาสสอนปักผ้าค่ะ แล้วพอปักดี ครูก็พาไปแข่งนอกโรงเรียน ไปโชว์ในวัง ก็รู้สึกว่าเป็น Hobby ที่ชอบมากๆ ไม่ว่าจะทำอะไรมา เบื่อแค่ไหน พอได้กลับมาปักผ้า จะรู้สึกดีเสมอ คือรักการปักไปเลยค่ะ คิดว่าสิ่งนี้น่าจะเอามาทำเป็นธุรกิจได้ เลยลองทำดูตั้งแต่ตอนปี 1 ค่ะ เริ่มจากปักลายเอง แล้วก็เย็บเป็นกระเป๋าขาย แล้วก็ขายเพื่อน รุ่นพี่ในมหาลัย หลังๆ ก็เริ่มเปิดร้านในไอจี แล้วก็เริ่มมีคนมาสั่งเรื่อยๆ ทำมาประมาณเกือบปี ก่อนที่จะหยุดไป เพราะเรียนหนัก”
แม้แบรนด์นี้จะเกิดขึ้นในช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัย แต่ความจริงแล้วจุดสตาร์ทการเป็นแม่ค้าของเธอ เริ่มต้นตั้งแต่ช่วงมัธยมศึกษาปีที่ 4
“ตอนนั้นทำร้านเสื้อผ้ากับเพื่อน 2 คน เป็นร้านตัวแทนจำหน่าย เราเปิดหน้าร้านในไอจี ฟอลโลเวอร์เกือบหมื่น พอมีออเดอร์ เจ้าของร้านที่เราเป็นตัวแทนอยู่จะจัดส่งให้ เราแค่เก็บส่วนต่าง ถือเป็นการหาเงินครั้งแรก ก็ทำมาเรื่อยๆ จนจบ ม.6 เลยค่ะ อยากลองหาเงินเอง เพิ่มจากค่าขนมที่พ่อแม่ให้ค่ะ”
ทุกการค้าขายย่อมมีอุปสรรค เฟิร์สเองก็เจอกับบททดสอบเช่นกัน
“เฟิร์สรับปักผ้า ตลอดช่วงเรียนปี 1 แต่พอขึ้นปี 2 ก็ต้องหยุดไปค่ะ เพราะตอนนั้นเรียนหนักมาก รู้สึกว่าทำร้านไม่ไหว เลยพักไปก่อน เราต้องเน้นเรียนก่อน เพราะเฟิร์สเรียนแบบมีทุน ที่จะต้องรักษาเกรด เลยกลัวว่าร้านจะไปกระทบการเรียน จนมาถึงช่วงโควิดที่ต้องเรียนออนไลน์อยู่บ้าน แล้วคุณแม่ก็ลดค่าขนม (หัวเราะ) เพราะว่าไม่ต้องออกไปข้างนอก ก็เลยลองหาอะไรทำเพิ่มดู แต่คราวนี้ไม่ได้รับปักเสื้อแล้ว เปลี่ยนไปขายคุกกี้ออนไลน์กับน้องสาว คิดสูตร คิดแพ็กเกจกันเอง ตอนนั้นมีรายได้เข้ามาประมาณหมื่นได้ค่ะ ก็เลยขายจนเรียนจบปี 4 เลย พอเรียนจบก็เป็นช่วงโควิดซาพอดี”
แต่ด้วยใจที่รัก “การปักผ้า” วันนี้เธอจึงกลับมาต่อยอดแบรนด์ Summer Freaks อีกครั้ง
“ความจริงเฟิร์สอยากกลับมาปักผ้าตั้งแต่หลังเรียนจบมหาลัยแล้วค่ะ แต่พอเริ่มทำงานประจำ (เป็น Content Creator ให้กับบริษัท Agency ) หลายๆ อย่างก็ไม่อำนวย แต่ก็ยังอยากทำอยู่เรื่อยๆ คือรอบนี้เรารู้สึกว่า ถ้าจะทำ เราจะจริงจังแล้ว จะไม่เหมือนตอนเด็กๆ ที่ทำเพราะแค่อยากทำ แต่ตั้งใจให้มันดีไปเลย เลยวางแพลนไว้นานมาก คิดเองหมด ตั้งแต่ชื่อร้าน คอนเซ็ปต์ร้าน ลายเสื้อ ชื่อรุ่น ทำคนเดียวเลยค่ะ จนเพิ่งได้เริ่มทำจริงๆ เมื่อต้นปีนี้ (พ.ศ.2567) ลูกค้าก็ตอบรับดีเลย คือเฟิร์สเปิดแบบออร์แกนิค ไม่ได้ยิง Ad. พยายามคุมงบมาร์เกตติ้งไว้ก่อน เอาแค่ทุนที่เป็นทุนเสื้อผ้า แล้วโชคดีที่มี Influencer มาเห็น เขาช่วยโปรโมทให้ เราเลยได้ฟรีมาร์เกตติ้งจากตรงนี้ไปด้วย ทำให้มีคนมาซื้อเรื่อยๆ จนถึงทุกวันนี้ก็ปักเรื่อยๆ ทำคู่กับงานประจำไปค่ะ”
จากความชอบที่อยากทำใส่เอง กลายมาเป็นซิกเนเจอร์ของแบรนด์
“เฟิร์สอยากให้เวลาที่คนคิดถึงร้านปักเสื้อรูปหัวใจที่มีตัวอักษร เลยเลือกรูปแบบนี้ให้เป็นซิกเนเจอร์ประจำร้าน เพราะร้านรับปักในปัจจุบันมีเยอะมาก แล้วรูปแบบนี้คือเกิดจากที่เฟิร์สอยากใส่เองด้วย พอทำแล้วคนชอบ เขาก็เริ่มสั่งทำเป็น custom เปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนตัวอักษร ปักเป็นประโยคก็มีค่ะ บางทีสิ่งที่ลูกค้าต้องการ ยังช่วยสะท้อนกลับมาว่าเราควรทำอะไรเพิ่มบ้าง ตอนนี้ก็เลยมีแบบ made to order ด้วย คือลูกค้าสามารถส่งลายมาให้เรา แล้วเราปัก แต่ราคาก็จะขึ้นอยู่กับลาย ความยาก ระยะเวลา ถ้าดูแล้วเรามั่นใจว่าเราทำได้ เราจะปักให้ แต่ถ้าสมมุติว่ามันยากไป หรือกลัวจะไม่ตรงปก เราก็จะบอกตรงๆ บางคนเอารูปสัตว์เลี้ยง รูปแมวมาให้ปัก เฟิร์สก็ปักให้เขา อาจจะไม่ได้เหมือนเป๊ะ แต่ก็ฟิวส์แบบแฮนด์เมด มีชิ้นเดียวในโลก เฟิร์สรู้สึกว่าตรงนี้มันทำให้เขารู้สึกพิเศษ เขาสามารถมีแค่คนเดียว หรือแม้บางทีจะปักลายเดียวกันก็ตาม แต่ก็จะไม่เหมือนกันอยู่ดี เพราะเราทำมือ จะมีความดีเทลของแต่ละอันที่แตกต่างกันออกไป”
อีกหนึ่งความยูนิคที่เกิดจากความใส่ใจสิ่งแวดล้อม คือเสื้อที่นำมาปัก จะเป็นผ้าทอจากพลาสติกรีไซเคิล
“เฟิร์สไม่ได้ฟิกซ์ว่าเสื้อที่ปัก จะต้องเป็นเสื้อของทางร้านเท่านั้น ลูกค้าสามารถส่งเสื้อของตัวเองมาให้เราปักได้ แต่ว่าเสื้อที่ร้านเฟิร์สเลือกใช้ จะเป็นเสื้อรีไซเคิลค่ะ ที่โรงงานทำเสื้อเขามีเป็นเหมือนเสื้อที่เอาขวดพลาสติก ฝาขวดน้ำ มาย่อยสลายเป็นผง แล้วเอามาทอใหม่กับเส้นด้ายเหลือใช้ ออกมาเป็นผ้ารีไซเคิล เฟิร์สก็เลยซื้อผ้าตรงนี้มาทำค่ะ หนึ่งคือเวลาที่ลูกค้าซื้อไป เขาจะได้รู้สึกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของ การช่วยลดขยะในสังคม สองคือผ้าชนิดนี้แข็งแรง ทนทาน ไม่ใช่ผ้าคอตตอนทั่วไป ที่ใส่แป๊บเดียวแล้วพัง สามารถหย่อนใส่ในเครื่องซักได้เลย ถึงแม้จะปักมือ แต่ไม่ต้องซักมือ เป็นผ้าที่ทนมาก”
รายได้ที่เข้ามาอาจจะไม่สูงมากนัก แต่เธอเล่าว่าสามารถนำไปต่อยอดได้ในหลายๆ ด้าน
“ณ ตอนนี้ เงินไม่ได้เยอะเท่างานประจำค่ะ แต่ว่าเป็นอีกก้อนหนึ่ง ที่เราเอาไปต่อยอดได้หลายอย่าง เช่นเอาไปท่องเที่ยว ไปเปิดประสบการณ์ให้กับตัวเอง เป็นรายได้เสริม และเป็นเงินเก็บ เพราะเฟิร์สมีแพลนอยากไปเรียนต่อปริญญาโทเกี่ยวกับระบบการจัดการธุรกิจ เพื่อมาเสริมความรู้ตัวเอง และต่อยอดธุรกิจของเรา”
ท้ายสุด…เฟิร์สได้ฝากแง่คิดให้กับน้องๆ ที่กำลังมองหาอาชีพเสริม หรือคิดที่จะเริ่มต้นธุรกิจของตัวเองว่าให้มองจากสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเป็นอันดับแรก
“อยากให้น้องๆ ลองถามตัวเองว่าอยากทำไปเพื่ออะไร ถ้าอยากทำเพื่อหาเงินเพิ่ม Goal ของเราก็จะประมาณว่าทำยังไงให้ธุรกิจได้กำไร หรือทำเพื่อ Passion ก็จะดูจากสิ่งที่เราชอบว่าคืออะไร อะไรที่เราทำแล้วเราทำได้ดี อาจจะเริ่มจากสิ่งใกล้ๆ ตัว เราถนัดอะไร ทำแล้วมีความสุข ไม่จำเป็นที่จะต้องทำแล้ว เจอเลย ว่านี่แหละเราจะทำสิ่งนี้ มันสามารถลองก่อนได้ ถ้ามันไม่ใช่ ก็เปลี่ยน ค่อยๆ ลองผิดลองถูกค่ะ เพราะเฟิร์สก็ทำหลายอย่างเหมือนกันกว่าจะมาเจอสิ่งที่รู้สึกว่าอยากทำไปตลอด แต่บางอย่างมันก็ต้องใช้ทุน ไม่ใช่ว่าทุกอย่างจะทำได้ฟรี อยากให้ลองแพลนกับตัวเองก่อน ยังไม่ต้องเสียเงินลงทุนกับสิ่งที่เรายังไม่รู้ว่าจะเวิร์กหรือเปล่า ลองจด ลองรีเสิร์จก่อน ว่าวงการนั้นเขาทำกันยังไง ศึกษาความเป็นไปได้ให้รอบด้านค่ะ”
สิ่งสำคัญที่สุด…คือการที่เราได้ลงมือทำ! เช่นเดียวกับเส้นทางของ “เฟิร์ส-จิรัชญา ศรีสุวรรณ” ที่แม้จะต้องลองผิดลองถูก แต่เธอกล้าที่จะลงมือทำ เพื่อนำประสบกาณ์จริงที่ได้รับ มาเป็นบทเรียนชีวิตให้กับตนเอง