เปิดโลกอบอุ่น สานสายใยรักครอบครัว 5 นิทานเติมเต็มจินตนาการและความสุข

โลกของนิทานเป็นโลกแห่งจินตนาการ นิทานต่อยอดจินตนาการกว้างไกลให้เด็กๆ นิทานเต็มไปด้วยคติสอนใจ และนิทานยังเป็น “สะพานเชื่อม” สายใย “ความรักความผูกพัน” ระหว่างพ่อแม่ลูกให้กระชับแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นไปอีก

กุดจี่-พรชัย แสนยะมูล นักเขียนอารมณ์ดี – กวีอารมณ์ขัน ศิลปิน บรรณาธิการร่วมสมัย ที่อ่านนิทาน เรื่องสั้น นิยาย บทกวี มามากมายตั้งแต่เด็กๆ และเขียนนิทานนามปากกา “พี่กุดจี่” 170 เล่มแล้ว มาบอกเล่าถึงประโยชน์ของนิทานที่ดีสำหรับเด็กๆ พร้อมแนะนำเคล็ดลับการเลือกนิทาน และเลือก 5 นิทานในดวงใจมาแนะนำให้พ่อแม่ผู้ปกครองหามาอ่านให้เด็กๆ ฟัง

นิทานมีประโยชน์สำหรับเด็กอย่างไร

“ต่อให้โลกพัฒนาไปไกลแค่ไหน เทคโนโลยีพัฒนาไปไกลแค่ไหนก็ตาม เราลองมองย้อนกลับไปโลกวัยเยาว์พาเรามาถึงวันนี้ได้ก็เพราะนิทาน นิทานมีคติสอนใจ ไม่ว่านิทานอีสป นิทานพื้นบ้าน นิทานจักรๆ วงศ์ๆ รวมทั้งนิทานสมัยใหม่ ที่พิมพ์ออกมาเป็นพ็อกเก็ตบุ๊ก พิมพ์ออกมาเป็นนิทานภาพ”

“นิทานคือสิ่งที่ทำให้ความรักความผูกพันระหว่างพ่อแม่กับลูกได้สานสายใยต่อกัน ขณะที่ลูกนั่งตักพ่อแม่ พ่อแม่อ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟัง ลูกก็จะซึมซับความอบอุ่น สายใยรักที่พ่อแม่ถ่ายทอด ผ่านน้ำเสียง ผ่านภาพที่เราเปิดให้เด็กฟัง และที่สำคัญ คติสอนใจ ที่คนเขียนมอบให้ผ่านตัวหนังสือ ผ่านรูปภาพ ศิลปะในการจัดหน้ากระดาษ ศิลปะในการวาดภาพ ศิลปะในการเล่าเรื่องจะซึมซับผ่านการบอกเล่า ผ่านการอ่านนิทานภาพให้เด็กฟัง มีความสำคัญมาก เพราะช่วงแรกเกิดถึง 6 ขวบ เป็นช่วงที่สมองเด็กเปิดรับทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอีคิว ไอคิว เอ็นคิว ต่างๆ นานา สิ่งที่มีความสำคัญต่อเด็กทางอารมณ์ ทางสติปัญญา ทางความฉลาดเฉลียว รวมทั้งความอารมณ์ดีต่างๆ ความสุนทรีต่างๆ มันจะผ่านตัวหนังสือ ผ่านนิทานเหล่านี้”

“เพราะในนิทาน มีตัวละคร มีฉาก มีความขัดแย้ง มีการแก้ปัญหา มีการคลี่คายของปัญหา จนสุดท้าย นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า…”

“นิทานเหมือนย่อปัญหาต่างๆ มาให้เราได้เรียนรู้ ซึ่งผู้ใหญ่ก็สามารถอ่านนิทานได้”

เด็กวัยไหนเหมาะกับนิทานแบบไหน?

” เด็กแรกเกิดถึง 6 ขวบ เหมาะอย่างยิ่งที่จะอ่านนิทานให้ฟัง โดยกว้างๆ เด็กแรกเกิดถึง 2 ขวบ เราอาจยังไม่ต้องเล่านิทาน แค่พูดคุยกับเด็กด้วยน้ำเสียงดีๆ มีรอยยิ้ม และเปิดเพลงบรรเลงให้เด็กฟัง ยังไม่ต้องมีถ้อยคำก็ได้ โตขึ้นมาหน่อยก็อ่านนิทานให้เด็กฟัง ซึ่งนิทานมีหลากหลายมาก เช่น นิทานจิตวิทยา นิทานสอนให้เด็กมีมารยาท ให้เด็กมีน้ำใจกับเพื่อน มันจะแฝงเรื่องเล่าที่ให้เปี่ยมไปด้วยจินตนาการ”

นิทานที่ดีต้องเป็นอย่างไร?

“นิทานที่ดี ต้องมีถ้อยคำ เรื่องราวที่เหมาะสม เสริมสร้างสติปัญญา เสริมสร้างอารมณ์สุนทรีย์ ลดความรุนแรงของอารมณ์ ไม่มีคำหยาบคาย ไม่มีความรุนแรง มีความอ่อนโยน ทั้งภาพ เนื้อหา เรื่องราว และมีคติสอนใจ บางทีคติสอนใจอาจจะบอกตรงๆ แบบนิทานอีสปก็ได้ แต่บางครั้งไม่ต้องก็ได้ ก็มีเรื่องราว และมีคำที่อมความให้เด็กๆ ซึบซาบไป โดยที่ไม่ต้องบอกตรงๆ ก็ได้”

“ที่เน้นว่านิทานต้องไม่หยาบคาย และไม่มีถ้อยคำที่รุนแรง เพราะเด็กเหมือนผ้าขาว ถ้าเราให้สิ่งไม่ดีเข้าไป เด็กจะซึมซับ เป็นจุดด่างดำ เด็กไม่ใช่ใบไม้ด่าง ที่พอด่างแล้ว ถึงจะมีคุณค่า พอถึงช่วงหนึ่ง เด็กจะเรียนรู้ว่า โลกเต็มไปด้วยสีเทา สีดำมากมาย เด็กต้องมีกำแพงสีขาวป้องกันสีดำ สีเทาที่จะเข้ามาจากข้างนอกมากระทบเรา เรารู้ว่าโลกนี้เต็มไปด้วยสีเทา เรารู้ว่าโลกนี้เต็มไปด้วยสีดำ แต่หัวใจเรา เราต้องรักษาให้มันขาวไว้ ไม่ใช่ว่าโลกสวย และปฏิเสธว่าโลกนี้ไม่ดำ ไม่เทา เรารู้เราเห็นสีดำ สีเทา แต่เราเรียนรู้ที่จะปกป้องหัวใจของเราให้เป็นสีขาวเท่าที่จะขาวได้ แต่ถึงเวลาหนึ่งมีสีดำ สีเทา ซึมเข้ามาในหัวใจ เราก็ต้องพร้อมที่จะให้อภัยตัวเอง และคนอื่น และเริ่มต้นระบายสีขาวลงไปในหัวใจเราใหม่”

5 นิทานที่พี่กุดจี่ประทับใจ และแนะนำนิทานที่อยากให้เด็กๆ อ่าน?

“จริงๆ มีเยอะมาก ในแต่ละช่วงวัน-เวลา ผมอ่านนิทานเยอะมาก ทั้งนิทานอีสป และนิทานแปล นิทานร่วมสมัย” พี่กุดจี่ออกตัว จากนั้นเริ่มแนะนำนิทานเล่มแรก

1. เรื่อง “พี่น้อง 999 ตัว ย้ายบ้าน”  เรื่อง : เคน คิมมูระ ภาพ : ยาสุนาริ มูรากามิ

“เป็นนิทานของญี่ปุ่น ที่พูดถึงการเดินทางของกบ พูดถึงความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูก พูดถึงความรักที่ลูกมีต่อพ่อแม่ และพูดถึงอันตรายที่เกิดขึ้นระหว่างเส้นทาง ไม่ว่าจะงูหรือเหยี่ยวก็ตาม แต่สุดท้ายด้วยความรักที่พ่อมีต่อแม่ หรือความรักที่ลูกมีต่อพ่อแม่ หรือพ่อแม่มีต่อลูก ทำให้ครอบครัวของกบ 999 ตัวสามารถที่จะเดินทางฝ่าฟันอุปสรรคไปสู่ความสุขในบ่อน้ำแห่งใหม่ได้ ผมชอบมากเลย โดยใช้คำน้อยแต่กินใจความมาก ก่อให้เกิดจินตนาการสำหรับเด็กๆ และความสนุกสนาน”


2. เรื่อง “ปลา ก็คือ ปลา”  เรื่องและภาพ : ลีโอ ลิออนนี แปล : อริยา ไพฑูรย์

“นิทานเรื่องนี้ สอนว่า บางทีเราอยู่ในบริบทสิ่งแวดล้อมเดิมๆ เราอาจจะเกิดความเบื่อ ปลาอยู่ในน้ำก็เบื่อน้ำ อยู่บนฟ้าก็เบื่อฟ้า วันหนึ่งฟ้าอยากจะเป้นนก นกอยากจะเป็นปลา นิทานก็บอกเด็กๆว่า เราต้องยอมรับในสิ่งแวดล้อมของเรา เราต้องยอมรับว่าเราเป็นใคร เราถนัดอะไร อะไรเหมาะกับเรา เราต้องเป็นตัวของตัวเอง ปลาต้องอยู่ในน้ำ นกต้องอยู่บนฟ้า ปลาถ้าไปอยู่บนฟ้ามันก็ตาย นกถ้าไปอยู่ในน้ำมันก็ตาย นิทานเรื่องนี้สอนอะไรได้เยอะมาก”


3. เรื่อง “พระจันทร์อร่อยไหม” เรื่องและภาพ : ไมเคิล เกรจ์เรียช แปล : ปรีดา ปัญญาจันทร์

“เรื่องนี้เต็มไปด้วยจินตาการ เป็นเรื่องของสัตว์ต่างๆ มองเห็นพระจันทร์ แล้วอยากจะกิน พระจันทร์น่ากิน ก็เลยหาวิธีการที่จะกิน จึงมาสามัคคีต่อตัวกัน ยืนบนหลังกัน เอื้อมมือไปถึงพระจันทร์เอื้อมที่จะกิน ทางฝ่ายพระจันทร์ก็หลงเข้าใจผิดว่า สัตว์เหล่านี้กำลังเล่นซ่อนหากับตน ก็เลยเขยิบตัวออกไป สุดท้ายมีหนูตัวหนึ่งเอื้อมถึง หนูเป็นสัตว์ตัวเล็กที่สุดที่ต่อหลังกัน หนูก็บิพระจันทร์และมาแบ่งกับเพื่อนๆ นิทานน่ารักดี และแบ่งปันกัน”

“จากพระจันทร์เต็มดวงก็กลายเป็นพระจันทร์เสี้ยว ขณะที่ตัดฉากมาตอนจบ ปลาเห็นเงาพระจันทร์อยู่ในน้ำ ก็คิดว่า ไม่เห็นต้องต่อแถวกันเลย เราอยู่ในน้ำก็ได้กินพระจันทร์แล้ว เรื่องนี้เต็มไปด้วยจินตนาการและเต็มไปด้วยมุมมอง คนอยู่บนบกอาจจะเห็นมุมมองหนึ่ง คนอยู่ในน้ำอาจจะเห็นมุมมองหนึ่ง สะท้อนให้เห็นว่า สังคมเราเต็มไปด้วยคนที่หลากหลายมุมมอง เราจะอยู่ด้วยกันอย่างไร อย่างมีความสุข รู้จักแบ่งปัน และต้องยอมรับมุมมองที่แตกต่างกัน ก็ทำให้เราได้ย้อนมองสังคมของเราด้วย ซึ่งก็แล้วแต่จะตีความ”


4. เรื่องๆ “ก๊อก ก๊อก ขอค้างคืนหนึ่ง” เรื่อง : ทัน โคอิเดะ , รูป : ยาสุโกะ โคอิเดะ , แปล : พรอนงค์ นิยมค้า

“เป็นเรื่องของสัตว์หลงทางในค่ำคืนที่เหน็บหนาว และไปเจอบ้านร้างหลังหนึ่ง ก็เคาะประตูเข้าไป ไม่มีใครอยู่ แต่ก็ไปนอนอยู่บนเตียง และมีสัตว์ตัวอื่นมาเคาะประตู เข้าไปนอนอยู่บนเตียงรวมกันหลายตัวมาก ไม่รู้บ้านใคร แต่สัตว์ที่หลงทางมาก็มาอบอุ่นอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน สุดท้าย เจ้าของบ้านก็มา เป็นหมีรูปร่างน่ากลัว ทุกคนก็กลัวว่าหมีจะมาทำอะไร แต่กลับกลายเป็นว่า หมีเจ้าของบ้านเป็นหมีใจดี ให้สัตว์ทุกตัวได้คลายหนาว โดยต้มซุปให้สัตว์ให้กิน”

“เป็นนิทาน ที่เปี่ยมไปด้วยความสนุก เปี่ยมไปด้วยการผจญภัย และมีน้ำใจแบ่งปันกัน โดยภาพลักษณ์ของหมีที่สื่อมา หลายคนอาจจะกลัว แต่นิทานก็บอกเป็นนัยยะว่า อย่าตัดสินคนจากภายนอก”

“น่ารัก น่าสนใจ และเปี่ยมไปด้วยจินตนาการ”


5. เรื่อง “ช้างน้อยอยากจะเป็น”

“เป็นนิทานของผมเอง ลูกสาววาดภาพประกอบไว้ตั้งแต่เด็กๆ ส่วนผมเป็นคนเขียนเรื่อง โรงเรียนนานาชาติฝรั่งเศสนำไปสอนเด็ก เป็นนิทานร้อยแก้วที่ผมไม่ค่อยได้เขียน ส่วนใหญ่เขียนเป็นร้อยกรอง ซึ่งผมเขียนนิทานเยอะ แต่ชอบนิทานเรื่องนี้มาก”

“ช้างน้อยอยากจะเป็น สอนให้เด็กรู้ว่า บางทีเด็กมีความใฝ่ฝัน อยากจะเป็นนู่น อยากจะเป็นนี่ อยากเป็นยีราฟคอยาวๆ อยากจะเป็นหอยทาก อยากจะเป็นเสือชีต้า จะเป็นคู่ขนานและเกิดข้อเปรียบเทียบ นิทานจบก็ไม่จบ แต่จะเติมเต็มให้เด็กอยากจินตนาการต่อว่าอยากจะเป็นอะไร ที่เหลือก็เลือกที่เราเหมาะ อย่าเป็นแบบคนอื่น”

พรชัย ทิ้งท้ายว่า หนังสือนิทานมีเยอะมาก ต้องอ่านเยอะๆ จะทำให้เราเป็นคนที่ยอมรับความหลากหลาย ยอมรับความแตกต่าง

“การอ่านนิทานช่วยปลูกฝังเด็กมากมาย ถ้าเราปล่อยให้เด็กร้างไร้นิทาน จินตนาการของเด็กจะไม่ถูกเติมเต็ม นักวิชาการท่านหนึ่งได้บอกว่า บางครั้งเราไปเปลี่ยนจิตสำนึกของเด็ก ตอนเป็นวัยรุ่นก็สายเกินไป เราต้องเราปลูกฝังจิตใต้สำนึก คุณธรรมดีๆ สิ่งดีๆ ตั้งแต่แรกเกิด-6 ขวบก็จะติดตัวเด็กไป โตขึ้นเด็กก็จะจำได้”

“นิทานสอนให้เด็กมีมุมมอง มีความอ่อนโยนที่หลากหลาย และกลายเป็นคนมองโลกในแง่บวก ยิ่งโลกปัจจุบันเต็มไปด้วยความเครียด ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ โควิด เราจะผ่านมันไปได้ด้วยนิทาน ต่อให้โลกก้าวไกลไปแค่ไหน เด็กๆ ต้องมีกำแพงสีขาวนี้กั้นไว้ในหัวใจ” พรชัยทิ้งท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้และ นโยบายในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า