‘ใช้ทุน ด้วยการพัฒนาประเทศ’ เป้าหมายนักเรียนทุน ‘เก้า บินยา’ พร้อมแนะวิธีการขอทุนฉบับง่าย

การได้รับทุนการศึกษานอกจากจะเป็นประโยชน์สำหรับนักศึกษาที่ได้รับทุนแล้ว ยังถือเป็นเกียรติอันยิ่งใหญ่ด้วย เพราะเป็นเครื่องการันตีความโดดเด่นทางด้านวิชาการ หรือนักกิจกรรมที่ทำประโยชน์ต่อส่วนรวม

บินยา กนิษฐ์โรจน์ (เก้า)

บินยา กนิษฐ์โรจน์ (เก้า) ก็เป็นอีกคนที่ได้รับทุนการศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาตรี ที่คณะอักษรศาสตร์ เอกภาษาไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกำลังศึกษา ปริญญาโท สาขารัฐประศาสนศาสตร์ (Master of Public Administration) London School of Economics and Political Science ด้วยทุนรัฐบาลเพื่อดึงดูดผู้มีศักยภาพสูง ที่กําลังศึกษาอยู่ในสถาบันการศึกษาในประเทศ Undergraduate Intelligence Scholarship Program (UIS) อีกด้วย

บินยาเล่าว่า ตนเองมักจะมองหาทุนการศึกษาเสมอ โดยเริ่มมองจากทุนที่สนใจและมีคุณสมบัติตรงกับนโยบายของทุนนั้นๆ แล้วศึกษารายละเอียดต่าง ๆ อาทิ คุณสมบัติของผู้สมัคร ระยะเวลาการสมัคร ระเบียบการใช้ทุน จากเว็บไซต์ขององค์กรต่างๆ ที่เปิดให้ทุนอยู่ หรืออาจจะเป็นทางอื่นก็ได้

“ตอนอยู่ ม. 6 ก็หาดูว่ามีคณะอะไรบ้างที่เราสนใจ และคณะนั้นๆ มีทุนไหม  แต่ทุน UIS เก้าบังเอิญรู้จักเพราะรุ่นพี่สอบได้ ซึ่งจะให้คนที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นก่อนชั้นปีสุดท้ายของคณะ เก้าดูว่าเราสนใจทุนไหม คุณสมบัติเราได้ไหม แล้วลองไปสอบดูค่ะ”

“ทุนที่เก้าได้คือทุนตำแหน่งนักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการซึ่งตอนนั้นมีเปิดสอบทั้งของกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เราเลือกได้ 2 หน่วยทุน เก้าจึงเลือกไปทั้งคู่ แล้วก็ไปสอบข้อเขียน ทุนนี้จะมีสอบ 3 รอบ รอบแรกข้อเขียน ‘การทดสอบภาษาอังกฤษและความสามารถทั่วไปทางวิชาการ’ เนื้อหาของความสามารถทั่วไปทางวิชาการก็ภาษาไทย เช่นการจับใจความ ตีความ สรุปความ และการวิเคราะห์แก้ปัญหาข้อมูล แนวโน้มเชิงปริมาณ ตรงนี้ถ้าอยากเห็นแนวข้อสอบอาจจะลองหาแนวข้อสอบเก่ามาดูก็ได้ แล้วลองประเมินดูว่าเราทำได้ไหม ถ้ายังทำไม่ได้การอ่านหนังสือเพิ่มก็อาจจะเป็นสิ่งสำคัญ

 พอเราสอบข้อเขียนผ่าน เก้าเลือกที่กระทรวงพม.ค่ะ พอเราได้ไปฝึกงาน ก็จะได้เห็นจริงๆ ว่า เขาทำอะไรกัน มันใช่อย่างที่เราชอบไหม ระหว่างนั้นเขาก็จะประเมินเราด้วยว่า เรามีทักษะแค่ไหน พูดคุยรู้เรื่อง เข้าใจคำสั่ง ทำงานร่วมกับคนอื่นเป็นอย่างไร ตรงจุดนี้ต้องเตรียมตัวเยอะหน่อย เพราะเราจากที่ไม่เคยรู้เลยว่างานราชการเป็นแบบไหน ตำแหน่งที่ทำมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง ก็ต้องศึกษาเพิ่มเติมก่อนที่เราจะไปฝึกงานเพื่อสร้างความประทับใจให้กับหน่วยงาน และเราสามารถตั้งคำถามที่น่าสนใจเกี่ยวกับการฝึกงานและนโยบายต่างๆ ของกระทรวงที่จะพัฒนาต่อไปได้ จะทำให้เราคุยกับคนที่เขาดูแลเราได้ซึ่งเวลาเขาประเมินแล้วก็จะรู้สึกว่า เด็กคนนี้ก็พอรู้มาบ้าง และสนใจอยากทำอะไรต่อยอด คิดว่านั่นก็น่าจะเป็นส่วนสำคัญเหมือนกันที่ได้รับเลือกค่ะ จากนั้นก็สอบสัมภาษณ์ค่ะ”

“วันสัมภาษณ์จะมีหลายคนร่วมกันสัมภาษณ์เรา ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนกระทรวง สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) โดยคำถามส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับการทำงาน เช่น คิดอย่างไรกับการทำงานราชการ คิดว่าจะทำงานที่นี่ได้ไหม และอีกหลายคำถาม เราก็ตอบไปอย่างมั่นใจเลย แต่ถ้าคำถามไหนที่เราตอบไม่ได้ก็ลองพยายามตอบในสิ่งที่เรารู้ และอาจจะถามเขาไปเลยว่า ใช่ที่ถามไหม หรือว่าอยากถามจะตรงไหนเพิ่มเติมไหมคะ ตรงนี้ก็คิดว่าเขาก็วัดทั้งความรู้และความมั่นใจในการตอบคำถามด้วยค่ะ”

ความประทับใจในการฝึกงานทำให้บินยาผ่านการสอบสัมภาษณ์และได้รับทุนในที่สุดซึ่งก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอมองเห็นภาพอนาคตของตัวเองในอาชีพสายนี้

“ตำแหน่งนี้เป็นโอกาสที่น่าสนใจที่ตัวเองจะได้เอาความรู้ความสามารถมาทำงานให้ประเทศ เราทำการปรับเปลี่ยนแก้ไขปัญหาและพัฒนาเชิงโครงสร้าง เก้าว่ามันก็ต้องเริ่มจากในระบบราชการนี่แหละที่เป็นโอกาสให้เราทำได้ ทุกวันนี้เขาก็เปิดรับฟังความคิดเห็นของคนในองค์กรค่อนข้างเยอะ ให้ได้มีส่วนร่วมอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นก็รู้สึกว่ามันก็เป็นไปได้แล้วก็ไม่ได้ยากมากนัก”

อย่างไรก็ตาม ทุน UIS เป็นทุนที่ให้นักศึกษาก่อนเรียนจบปริญญาตรี 1 ปี โดยเริ่มแรกจะเป็นทุนสนับสนุนการเรียนชั้นปีสุดท้ายในช่วงเรียนปริญญาตรี และต้องใช้ทุนในส่วนนี้ก่อนเป็นเวลา 2 ปี (2 เท่าของระยะเวลาเรียน) ก่อนที่จะรับทุนเรียนต่อปริญญาโท

“เก้าว่าก็เป็นโอกาสในการให้เราได้เรียนรู้การทำงานจริงด้วยค่ะ ถ้าเราชอบและอยากทำงานต่อก็ค่อยไปรับทุนเรียนปริญญาโท แต่ถ้าไม่ชอบก็ยังมีเวลาเรียนรู้ คิด และตัดสินใจได้ค่ะ”

“ตอนนี้เก้ากำลังเรียนปริญญาโทปี 1 ค่ะ เหลือเวลาอีก 1 ปีและเมื่อจบก็ต้องกลับไปใช้ทุน 4 ปี เพราะส่วนตัวเก้าชอบงานที่ทำค่ะ เก้าอยู่ตำแหน่งผู้ประสานงาน กองตรวจราชการ ก็จะลงพื้นที่ไปกับโครงการต่างๆ ของกระทรวงเพื่อพูดคุยกับหน่วยงานในพื้นที่ ดูว่าทำเป็นไปตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ไหม หรือมีข้อเสนอแนะอะไรไหม นโยบายที่ให้ไปทำมีอะไรอยากแก้ไหม มีปัญหาข้อติดขัดตรงไหน ก็เป็นการเปิดมุมมองของเราด้วย ได้เรียนรู้และได้ใช้ทักษะที่ไม่ได้คิดว่าจะได้ใช้ ได้คุยกับคนแทบทุกจังหวัด”

และความชอบในงานนี้เองทำให้บินยาไม่ได้มีปัญหากับคำว่า ‘ใช้ทุน’

“งานที่เราทำมันเป็นงานที่เราชอบ อยากทำอยู่แล้ว ต่อให้ไม่ได้มีเงื่อนไข ก็ตั้งใจจะกลับไปทำงานนี้ค่ะ เลยไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นการใช้ทุนอะไร อย่างก่อนที่จะมาเรียนต่อ เก้าอยู่ในโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางรายครัวเรือน ซึ่งเป็นโครงการใหม่ของกระทรวงที่จะลองใช้วิธีการพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบทั้งครัวเรือน ไม่ใช่เจาะจงไปแค่คนใดคนหนึ่ง เพราะจริงๆ ปัญหามันก็ผูกกันไปหมด คิดว่าถ้าเราสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ในสเกลใหญ่ระดับประเทศก็จะเป็นโครงการที่ดีโครงการหนึ่งเลยค่ะ”

สำหรับเคล็ดลับสำคัญในการเป็นหนึ่งในนักเรียนนักศึกษาที่ได้รับทุน บินยาบอกว่า ขอให้เชื่อมั่นในตัวเองและลองลงมือสอบดูก่อน

“เก้ารู้ข่าวทุนนี้มาจากรุ่นพี่ เพราะฉะนั้นคิดว่ามันสำคัญที่เราจะต้องติดตามข่าวสารทุกช่องทาง และรักษาความสัมพันธ์กับรุ่นพี่รุ่นน้อง เพื่อน และคณาจารย์ให้ดี เพราะเราก็ไม่รู้ว่าข่าวมันจะมาจากทางไหน เมื่อมีโอกาสก็อยากให้ลองสมัครไปก่อน บอกตรงๆ ว่าตอนเก้าสมัครก็ไม่ได้มั่นใจว่าจะสอบได้ แต่ไม่ลองก็ไม่รู้ ถ้าสอบคราวนี้พลาดไปก็ยังมีอีกหลายทุนรอเราอยู่ ต่อให้เรียนจบไปแล้วก็ยังมีทุนสำหรับบุคคลทั่วไปด้วย ไม่อยากให้ทิ้งโอกาสค่ะ แต่เมื่อได้โอกาสมาแล้วก็อยากให้ทำให้เต็มที่”

เมื่อเป็นเช่นนี้ บทบาทของนักเรียนทุนจึงไม่ใช่เพียงมีความสามารถในการเรียนเท่านั้น หากแต่ยังต้องกระตือรือร้นในการเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนแปลงและพัฒนาในส่วนที่ตนเองสามารถทำได้อีกด้วย

ฝันให้ใหญ่ ตั้งเป้าให้สูง และกางตาข่ายกว้างๆ ในการค้นหาทุนการศึกษา ใครจะรู้ โอกาสในฝันของคุณอาจรออยู่แค่เอื้อม!

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้และ นโยบายในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า