เบื้องหลังนวัตกรรม ‘Happy CP Gloves’ ความสำเร็จระดับโลก ที่เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ขั้นพื้นฐานรอบตัวเด็ก

‘Happy CP Gloves’ เริ่มต้นเป็นที่รู้จักเมื่อ 5 ปีก่อน เมื่อกลุ่มของเด็กๆ วัย 10 ขวบ 4 คนร่วมกันคิดค้น และสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ สำหรับช่วยเหลือสังคมโดยเฉพาะเรื่องของสุขภาพจากไอเดียเล็กๆ ที่ว่า จะทำอย่างไรเพื่อสร้างความสุขและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับใครสักคนบนโลกใบนี้

นส. ณิชมน สุภัทรเกียรติ (นิชชี่) นส.ไอริณรยา โสตางกูร (ลิซ) นาย ศุภวิชญ์ วรรณดิลก (ตี๋น้อย) และนาย สุภชีพ สหกิจรุ่งเรือง (ตาต้า) ภายใต้การดูแลของ อ.จีระศักดิ์ จิตรโรจนรักษ์ หัวหน้าศูนย์นวัตกรรมแห่งโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ 5 ปีก่อน จึงได้คิดที่จะทำถุงมือสำหรับผู้พิการทางสมองขึ้นโดยแรกเริ่มนั้นเพื่อเข้าประกวดเวทีประกวดนวัตกรรมนานาชาติที่ประเทศเกาหลีใต้  Korea International Youth Olympiad – KIYO 2017 ซึ่งในที่สุดทีมก็คว้าเหรียญเงินมาครองได้สำเร็จ

แต่ความสำเร็จไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น ไม่มีผู้ที่เกี่ยวข้องคนใดปล่อยให้ ‘Happy CP Gloves’ เป็นเพียงนวัตกรรมที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อส่งเวทีประกวดเท่านั้น หากแต่มีการต่อยอดขยับขยาย จนกลายเป็นสิ่งที่ใช้งานได้จริง และในอนาคตอันใกล้ ผู้ที่ต้องการใช้งานถุงมือแสนวิเศษนี้ก็จะได้รับถุงมือนี้ไปทั่วประเทศ และยังมีการส่งมอบนวัตกรรมนี้ออกไปทั่วโลกด้วย

นายสุภชีพเล่าว่า ตอนที่ได้รับโจทย์โปรเจกต์นี้มาจากอาจารย์จีรศักดิ์ว่าธีมคือ การช่วยเหลือคนพิการ ตอนนั้นเราก็เลือกที่มันนิช (หายาก) สักหน่อย เพื่อให้เข้าถึงคนพิการที่ยังได้รับการช่วยเหลือน้อย

“หลังจากได้ธีมมาแล้วเราก็มานั่งคิดว่า จะเลือกทำให้ใคร เพราะหมวดหมู่คนพิการหลายแบบ เราเลือกกลุ่มพิการทางสมอง (cerebral palsy-CP) จากนั้นเราก็ไปดูว่าจะช่วยอะไรเขาได้บ้าง โดยการไปทำรีเสิร์ชที่สมาคมศูนย์การเรียนรู้คนพิการบ้านแม่นก และที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ทำให้เราพบว่า น้องๆ ที่เป็น CP มือจะกำแน่น จนแทงเข้าไปในเนื้อตัวเองเพราะเขาควบคุมกล้ามเนื้อตัวเองไม่ได้ เราจึงคิดที่จะทำถุงมือขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหานี้”

นางสาว ไอริณรยา เสริมตรงนี้ว่า ตอนนั้นรู้สึกขึ้นมานิดหนึ่งว่า คนที่ป่วยก็อายุเท่าๆ กันกับตนเอง แต่ไม่มีโอกาสได้เหมือนคนทั่วไป จึงอยากจะช่วยเขาให้ได้

“ตอนที่ไปที่รพ. จุฬาจะรู้สึกค่อนข้างเซ็นสิทีฟนิดนึง เพราะตอนนั้นก็เห็นว่าเขาเป็นเด็กเหมือนกับเรา แต่ไม่ได้มีโอกาสที่จะเรียนรู้ หรือมีประสบการณ์หลายอย่างที่เสียไปเพราะป่วยตรงนี้ ทำให้เราอยากจะช่วยเขา เราก็เลือกที่จะให้โปรดักเป็นของเล่น เพราะเราโฟกัสที่เด็ก เราก็อยากให้เขาได้เล่นของเล่น ได้มีโอกาสมากขึ้นที่จะหายดีมากยิ่งขึ้น”

เมื่อได้นำผลงานรีเสิร์ชมาพูดคุยกันแล้ว จึงทำให้เกิดเป็นถุงมือที่ใช้ประโยชน์ได้ และเป็นของเล่นได้ด้วย

“ถุงมือ  ‘Happy CP Gloves’ มีทั้งสิ้น 5 รูปแบบผ่านตัวสัตว์ทั้งสิ้น 5 ตัว ซึ่งแต่ละตัวก็มีประโยชน์แต่ละตัวก็มีประโยชน์ต่างกันไป ตามความต้องการความช่วยเหลือของผู้ใช้ครับ เช่น ช่วยเรื่องการมองเห็น การได้ยิน และช่วยไม่ให้นิ้วเขาล็อก”  นาย ศุภวิชญ์กล่าวเสริมเพื่อนๆ

ก่อนที่ สุภชีพจะเล่าว่า คนพิการทางสมองจะมีอาการแตกต่างกันออกไป ซึ่งในเบื้องต้น ‘Happy CP Gloves’ ก็ตั้งใจตอบสนองทุกความต้องการนั้น

“ถุงมือที่เราทำเป็นถุงมือที่เป็นรูปสัตว์ต่างๆ ติดไว้ ซึ่งถุงมือ ‘Happy CP Gloves’ นี้ก็แก้ที่ปัญหาเลย เช่น เราทำถุงมือตุ๊กตากระต่าย ที่เวลาเรากำแล้วมันจะมีฟันไม้ เวลากระทบกันจะมีเสียง ถุงมือตุ๊กตาไก่ มีไข่และมีเชือกอยู่ในก้นเวลาบีบไข่จะร่วงออกมา  ถุงมือตุ๊กตากบ ที่บีบแล้วมีเสียง และถุงมือตุ๊กตาเต่า เอาไว้ล็อกนิ้ว และมีเสียงปี๊ดๆ ผู้พิการบางคนก็เป็นบางอาการ แต่ก็มีหลายคนที่เป็นทุกอาการในคนเดียว เราพยายามทำให้ครอบคลุมทุกอาการ แต่ว่าตอนนี้ยังไม่ไม่ได้ขนาดนั้นครับ”

เนื่องจากปัญหาการผลิตทำให้ถุงมือ ‘Happy CP Gloves’ จะสามารถผลิตออกมาได้ 2 แบบเท่านั้น คือไก่กับเต่า

“เราหาผู้ผลิตให้ไม่ได้เพราะเป็นงานจุกจิกมาก และยังเป็นงานที่มีรายละเอียดแตกต่างไปจากการตัดเย็บทั่วไป กว่าจะหาที่รับทำให้ก็กินเวลามาก ในระหว่างนั้นเราจะหยุดก็ได้ แต่ถ้าเราไม่ทำมันขึ้นมา มันจะไม่มีประโยชน์อะไรให้สังคมเลย” นายชนวีร์ สุภัทรเกียรติ คุณพ่อของนางสาวณิชมนบอกกับเราอย่างนั้น

“เรามีโปรดักแล้ว มีโอกาสที่จะช่วยเหลือพวกเขาได้ก็อยากจะช่วยให้เต็มที่” ณิชมนเสริมคุณพ่อบ้าง

สำหรับการต่อยอดในเส้นทางของถุงมือ ‘Happy CP Gloves’ นี้ ทั้งทีมเด็กๆ และผู้ปกครองบอกกับเราว่า จะผลิตและส่งต่อไปยังผู้พิการที่ต้องการทั่วประเทศ ผ่านศูนย์การศึกษาพิเศษทุกจังหวัดในประเทศ และยังจะมีการเผยแพร่ความรู้นี้ไปสู่ทั่วโลกด้วย

“เราจะผลิตและนำไปแจกจ่ายให้เกิดการใช้งานจริง โดยติดต่อศูนย์การศึกษาพิเศษในทุกๆ จังหวัด ซึ่งก็มีตอบกลับมาบ้างแล้วส่วนหนึ่งว่า เขาต้องการกี่ตัว มีเด็กกี่คน ไซซ์เท่าไร แต่เป้าหมายของเราก็คือทั่วประเทศ” ชนวีร์พูดถึงเป้าหมายของทีมซึ่งบัดนี้ผู้ปกครองทุกคนอุทิศตัวกลายเป็นส่วนหนึ่งของทีมร่วมกับเด็กๆ และอาจารย์ที่ปรึกษาเรียบร้อยแล้ว

“เราพบว่า ถุงมือของเรามันไม่ได้แค่ช่วยผู้พิการทางสมองได้เท่านั้นครับ ในงานวันคนพิการสากล ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครที่ผ่านมานั้น คุณพ่อคุณแม่พาผมกับตี๋น้อยไปงานด้วย ก็ได้ไปเชิญชวนให้ทุกคนรู้จักงานของพวกเรา ทำให้เรารู้ว่ามีกลุ่มหนึ่งที่เรายังไม่ได้แตะ นึกไม่ถึง เพราะคนในงานที่มาหาเราไม่ได้เป็น CP แต่เป็นโรคอื่น เช่น คนที่มีปัญหาเรื่องสโตรค เส้นเลือดในสมองตีบแตก แล้วมือของเขาก็จะมีลักษณะเหมือนกันกับผู้พิการทางสมองคือ ข้อมือผิดรูป ซึ่งมีมาเยอะกว่าคนที่เป็น CP ถามว่าเราสอนเย็บใช่ไหม ในอนาคตเราอาจจะต้องสอนวิธีสร้างถุงมือนี้ได้ด้วยตัวเองด้วยครับ และพี่ๆ เหล่านั้นก็มีไอเดียมาให้เราเยอะมาก” สุภชีพบอก

“ด้วยไอเดียนี้ของตาต้า เราเลยคิดว่าจะปล่อยไอเดียต้นแบบไปทางสื่ออินเทอเน็ต เพื่อเป็นประโยชน์กับคนทั่วโลกไปเลย” ชนวีร์กล่าว

ศ.พญ.ธนินี สหกิจรุ่งเรือง คุณแม่ของนาย สุภชีพ เล่าว่า หลังจากที่โปรเจกต์นี้ได้รับรางวัลเหรียญเงินเมื่อ 5 ปีก่อนที่ประเทศเกาหลี ก็ยังคงได้รับอีก 3 รางวัล ได้แก่ 1) เหรียญทองจากงาน The 5th International Invention Innovation Competition in Canada (ICAN 2020) ประเทศแคนาดา ในปี 2563 2) เหรียญทองจากงาน World Invention Creativity Olympic (WICO) ประเทศเกาหลีใต้ ในปี 2563

และ 3) รางวัล Adman Awards: Creativity for Sharing Awards ในหมวด Design ประเทศไทยในปี 2562 ซึ่งไม่ได้อยากให้โปรเจกต์ได้รางวัลแล้วจบไป แต่ต้องสร้างประโยชน์แก่สังคมได้จริงด้วย

“เราพยายามสอนให้เขารู้จักการช่วยเหลือแบ่งปันมาตั้งแต่เด็ก และเมื่อมาได้ทำโปรเจกต์นี้ก็ต้องถือว่าเป็นโปรเจกต์เบสเลินนิ่ง (การเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน-Project Based Learning: PBL) ที่ดีมาก เพราะในตลอดกระบวนการจะมีการให้เด็กได้เรียนรู้หลายๆ อย่างไม่ว่าเขาจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ทั้งการรับฟังปัญหา การตัดสินใจว่าจะทำอะไร สร้างนวัตกรรมอะไรขึ้นมา ซึ่งตรงนี้เด็กๆ ก็เป็นคนตัดสินใจเองด้วยวุฒิภาวะของเด็ก 10 ขวบในตอนนั้น มันจึงไม่ใช่นวัตกรรมไฮเทค แต่มันสร้างประโยชน์ได้จริง และเราเองไม่ได้อยากได้แค่เหรียญทอง โดยที่ไม่ได้ทำให้เขาเติบโตอะไร ก็คิดว่านี่เป็นเหตุผลที่ให้เด็กๆ ได้ทำผลงานบางอย่าง รีเสิร์ช ออกแบบ ใช้ความคิดสร้างสรรค์ และทำผลงานออกมา และตอนนั้นเราได้สัญญากับแม่นกไว้ว่า จะต้องเอานวัตกรรมนี้มาใช้เด็กๆ ให้ได้  และเราอยากจะรักษาคำพูดนี้ไว้ค่ะ ตอนนี้เด็กๆ ก็ได้เริ่มเรียนรู้เรื่องการระดมทุน เมื่อสอบเสร็จแล้วเราจะให้ให้เขาไปนำเสนอเพื่อระดมทุนกับคอปอเรทใหญ่ๆ ให้เขาพิทช์งานด้วยตัวเอง นอกจากจะช่วยเหลือคนอื่นได้แล้ว ก็เป็นกระบวนการเติบโตของเด็กๆ ด้วย พ่อแม่ก็อยู่ในกลุ่มนี้ช่วยเหลือกันดีค่ะ”

นางอุษณี โสตางกูร คุณแม่ของน.ส. ไอริณรยา กล่าวถึงความรู้สึกของตนเมื่อมั่นใจว่า โปรเจกต์นี้จะสำเร็จและยิ่งใหญ่กว่าที่ตั้งใจว่า ต้องขอบคุณความร่วมมือของเด็กๆ และผุ้ปกครองทุกคน ที่ทำให้สิ่งที่ตนพยายามพร่ำสอนลูกๆ นั้นเป็นจริงขึ้นมาได้

“เราต้องการที่จะปลูกฝังเขาตั้งแต่เด็กๆ ว่าอยากจะให้เขาแบ่งปัน อันนี้ไม่ได้พูดให้ดูสวยงาม แต่ว่าพยายามปลูกฝังเล็กๆ น้อยๆ อยู่ตลอดเวลา แบ่งปันของ น้ำใจ แบ่งปันอะไรก็ได้ที่เราทำได้ แล้วก็รู้สึกว่าลูกทั้งสองก็มีจิตใจที่อยากจะเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แล้วโชคดีที่โรงเรียนมีกิจกรรมนี้และเด็กๆ ก็อยากจะเรียนรู้และทำกิจกรรม ตรงนี้เหมือนสปริงบอร์ดที่ทำให้เรามาถึงจุดนี้ที่อยากจะช่วยกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งขึ้นมาให้ได้ ดีใจและขอบคุณทีมของเราโดยเฉพาะคุณชนวีร์ที่พยายามหาผู้ผลิตถุงมือนี้จนได้ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่มีใครทำให้ ก่อนหน้านี้เราคุยกันว่า เราอยากจะทำสิ่งที่จับต้องได้ ต้องช่วยคนได้จริงๆ ได้ไปถึงน้องๆ ที่เรายังจำหน้าได้ที่ได้เคยไปเยี่ยม และในวันนี้ก็ดีใจที่เรามีโอกาสสานฝันได้สำเร็จ ต้องขอบคุณอีกครั้งกับผู้ปกครองทุกท่านค่ะ”

นางอรพิน วรรณดิลก คุณแม่ของนายศุภวิชญ์ บอกว่า เรื่องนี้เป็นความร่วมมือและสามัคคีของคุณครู เด็กๆ และคุณพ่อคุณแม่ และยังสอนเด็กๆ ได้ด้วย

“เราช่วยกันเยอะมาก ทั้งเด็กๆ ทั้งผู้ปกครองก็ต้องทุ่มเท เพราะมันต้องอยู่เย็นหลายวัน คุยกันหลายครั้ง แล้วในที่สุดสิ่งที่เราทำขึ้นมามันได้ใช้จริง ก่อให้เกิดประโยชน์จริง สิ่งนี้สอนให้เด็กๆ รู้ว่า ถ้าเราตั้งใจมันสำเร็จแน่นอน”

อุปสรรค์ใหญ่ข้อหนึ่งที่ทำให้โปรเจกต์นี้ต้องรอมาถึง 5 ปีกว่าจะเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมานั้น ก็คือ เงินทุน เนื่องจาก ถุงมือ ‘Happy CP Gloves’ มีรูปแบบเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวชัดเจน ทำให้ไม่สามารถหาผู้ผลิตได้ และเมื่อหาได้ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก แต่เพื่อให้งานชิ้นนี้ประสบความสำเร็จ ทีมจึงตัดสินใจระดมทุน ไม่ว่าจะเป็นจากผู้คนหรือหน่วยงานที่รู้จัก จากหน่วยงานที่จะฝึกให้เด็กๆ ได้ทดลองนำเสนอผลงานด้วยตนเอง และยังมีการระดุมทนจากเว็บไซต์ เทใจดอทคอม ด้วย

“เราตั้งใจจะผลิตประมาณ 2,000 ชิ้น ชิ้นละประมาณ 500 บาท โรงงานขอค่ามัดจำก่อน 50 % เป็นเงินประมาณ 5 แสนบาท โดยจะใช้เวลาทำประมาณ 2 เดือน แต่คิดว่าน่าจะทำมือทั้งหมด แล้วตุ๊กตาจะลดเหลือแค่ 2 ตัวเพราะจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นถ้าเราทำมากกว่านั้น ตอนนี้ จะมีทุนจากเทใจ และบริษัทต่างๆ โดยทาง โรงเรียนสาธิตจุฬาฝ่ายประถมออกจดหมายให้เราเพื่อที่จะไปขอทุน และทางผู้ปกครองก็จะระดมทุนจากคอนเนกชันต่างๆ ที่มีครับ” ชนวีร์เล่ารายละเอียด

โดยผู้ที่สนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จครั้งนี้สามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ https://taejai.com/th/d/happycpgloves/

แพทย์หญิงธนินีกล่าวถึงการระดมทุนตรงนี้ว่า “นอกจากเรื่องการเรียนในห้องเรียนก็คิดว่า คุณพ่อคุณแม่หลายคนก็มองเห็นว่าการเรียนรู้นอกห้องเรียน การเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงด้วยตา เห็นบางอย่างที่ไม่เคยเห็น ได้ทำตั้งแต่อายุน้อย มีทัศนคติที่ดีตั้งแต่วัยเด็กและวัยรุ่นตอนต้น เหล่านี้จะเป็นพลังงานชีวิตที่ดีให้กับเขาในระยะยาว สิ่งที่เด็กๆ พอจะช่วยได้ในขอบช่ายของเขาก็คิดว่า ทุกคนมีประสบการณ์ตรงในโปรเจกต์นี้ก็จะเป็นพลังเล็กๆ ที่หล่อเลี้ยงเขาให้ทำสิ่งอื่นๆ ต่อไปในอนาคต และในเทใจดอทคอม ก็จะสอนพวกเขาได้ว่า มีคนอยากทำความดีเยอะแยะ แต่ว่ามันหากันไม่เจอ อย่าไปคิดว่าคนไม่อยากทำความดี ผู้บริจาครายย่อยก็มาเรื่อยๆ คิดว่าลูกๆ เด็กๆ ที่ได้ทำก็จะมีประสบการณ์ตรงนี้ด้วยค่ะ”

นายชนวีร์กล่าวถึงประโยชน์ที่สำคัญในโปรเจกต์นี้ว่า นอกจากถุงมือ ‘Happy CP Gloves’ ช่วยผู้พิการทางตรง พัฒนาด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์แล้วก็ยังมีประโยชน์ทางอ้อมด้วย

“ประโยชน์ทางอ้อม ก็คือมีประโยชน์ทางสัญลักษณ์ อย่างที่แม่นก (สมาคมศูนย์การเรียนรู้คนพิการบ้านแม่นก) เคยพูดไว้ว่า เมื่อผู้ป่วยเห็นว่าโปรเจกนี้มันสำเร็จขึ้นมาก็จะรู้สึกว่า เขาไม่ได้ถูกทอดทิ้ง แต่คนในสังคมยังคงช่วยเขาอยู่ อีกอย่างคือ ถ้าโปรเจกต์นี้สำเร็จ เยาวชนคนไทยก็จะเห็นว่า มีเด็กที่สามารถช่วยคนอื่นได้จริงๆ เขาก็จะรู้สึกว่า เฮ้ย พวกนี้ทำได้ เราก็จะทำได้ แทนที่จะไปทำอย่างอื่นที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์”

จากโปรเจกต์เล็กๆ ของเด็กตัวเล็กๆ ในวันนั้น สู่ความช่วยเหลือที่จะถูกส่งต่อไปสู่ผู้ต้องการทั่วโลก เราขอเชิญทุกคนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในความดีงามในครั้งนี้ซึ่งจะสัมฤทธิ์ผลในไม่ช้าด้วยใจที่อิ่มเอม อย่างที่ ไอริณรยาหนึ่งในเด็กหญิงตัวน้อยเมื่อวันนั้นบอกว่า

“ดีใจค่ะ ที่โปรเจ็กต์ที่เราเคยทำตอนเด็กๆ มันสำเร็จไปได้อีกขั้นหนึ่ง ไม่ใช่แค่อยู่ในการแข่งขันเท่านั้น”

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้และ นโยบายในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า